เล่น VR แล้วเมา? รู้เท่าทัน “VR Motion Sickness” ความทรมานของคนเล่น VR (บางคน)
เผยเทคนิคท่องโลกเสมือนอย่างไรให้ไม่สะดุด หยุดอาการ "VR Motion Sickness" ที่ทำลายความสนุกของการเล่น "VR" ซึ่งกำลังมาแรงในตอนนี้และในอนาคต
เคยเป็นหรือเปล่า? เวลาเล่น VR แล้วมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หลายคนถึงขั้นอาเจียน อาการแบบนี้มีศัพท์เรียกว่า VR Motion Sickness หรือ อาการเมา VR มาดูกันว่าอาการนี้เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้อย่างไร
VR Motion Sickness เกิดจากอะไร
ทำไมบางคนเป็น แต่บางคนไม่เป็น สาเหตุที่อาการ "VR Motion Sickness" ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน หรือกับบางคนก็ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง เป็นเพราะมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการนี้มากมาย แต่ถ้าจำแนกออกมาจะมีสาเหตุหลักอยู่ไม่กี่อย่าง
ถ้าอธิบายทางการแพทย์ Motion Sickness เกิดจากระบบรับรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ประกอบด้วย หูชั้นใน ดวงตา กล้ามเนื้อและข้อ ทำงานไม่ประสานกัน สมองจึงเกิดความสับสนระหว่างสัญญาณรับรู้การเคลื่อนไหวจากหูชั้นใน, สัญญาณการมองเห็นจากดวงตา และสัญญาณรับรู้ตำแหน่งของร่างกายจากกล้ามเนื้อและข้อ ทำนองเดียวกับอาการเมารถเมาเรือ ทำให้มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
ในการเล่นหรือใช้ "VR" ดวงตาจะรับข้อมูลมาอย่างหนึ่งจาก VR แต่ร่างกายกลับได้รับข้อมูลมาอีกอย่าง ทำให้ไม่สอดคล้องกันจนสมองเกิดความสับสน หรือบางครั้งก็เพราะภาพที่ได้รับจาก VR ช้ากว่าที่ร่างกายเคลื่อนไหว จนเกิดเป็นอาการ "VR Motion Sickness" ซึ่งมีโอกาสมาจากทั้งตัวอุปกรณ์ที่ยังเป็นเทคโนโลยีเก่าหรือแม้แต่อินเทอร์เน็ตที่ใช้ไม่แรงพอ การเล่นเกมหรือใช้ VR จึงต้องการ Framerate ที่มากกว่าการเล่นเกมแบบปกติทั่วไป
อีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยคือความผิดปกติของสายตา เช่น สายตาสั้น ยาว เอียง ล้วนมีผลต่อการมองเห็นและการประมวลผลที่ผิดพลาดของสมอง การสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์จึงช่วยให้หลายคนเล่น VR ได้แบบรอดตายจาก VR Mo-sick
วิธีเอาชนะ VR Motion Sickness
ก่อนจะเริ่มป้องกันหรือแก้ปัญหา "VR Motion Sickness" ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าวิธีเหล่านี้อาจใช้ไม่ได้กับทุกคนทุกเคส แต่สำหรับคนที่ใช้ได้จะทำให้เล่น "VR" สนุกขึ้นแน่นอน
1.จัดการสายตาตัวเองก่อน
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าปัญหาสายตามีผลต่อการมองเห็นที่ผิดปกติ โดยเฉพาะกับการมองในจอแว่น VR ถึงแว่น VR ส่วนมากจะมีให้ปรับ แต่มักจะเป็นการปรับระยะความห่างของดวงตาสองข้างมากกว่า ดังนั้นการสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์เพื่อให้การมองเห็นปกติที่สุดก่อนจะสวมแว่น VR ทับ จะช่วยให้สายตาทำงานได้ดีขึ้นนั่นเอง
2.ควรใช้แว่น VR ที่เฟรมเรทและความละเอียดจอมากๆ
นอกจากเฟรมเรทมากๆ จะช่วยให้ภาพสมูธ และความละเอียดจอมากๆ จะช่วยให้ภาพที่ได้คมชัด ความลื่นไหลและความคมชัดยังทำให้ดวงตาทำงานปกติ เกิดความสับสนได้น้อยกว่า ปัจจุบันแว่น VR ที่วางจำหน่าย เกือบทั้งหมดถูกพัฒนาให้มีเฟรมเรทมากขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้ว รวมทั้งความละเอียดที่อย่างน้อยก็อยู่ที่ 4K แล้ว
3.อย่าหักโหม ค่อยๆ ปรับตัว
วิธีที่ง่ายสุดและขึ้นอยู่กับตัวเราคือการเล่น VR อย่างพอดี ในช่วงแรกๆ ยังไม่ควรเล่นต่อเนื่องนานๆ แต่แนะนำให้เล่นวันละนิดหน่อย แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาขึ้นทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวอย่างช้าๆ ส่วนมากคนที่เกิดอาการ VR Motion Sickness มักจะเป็นผู้เล่นใหม่ที่ยังไม่รู้ลิมิตตัวเอง แล้วเมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ก็จะกลัวการเล่น VR ไปเลย
4.เล่นในที่เย็นสบาย อากาศถ่ายเท
จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือถ้าทั้งสองอย่างก็ได้ เพราะการเล่น VR ไม่ว่าจะในที่เย็นสบายหรืออากาศถ่ายเท ล้วนมีผลต่ออาการเมา VR ทั้งสิ้น เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยเป็น VR Motion Sickness เพราะร้อนเกินไป ถึงขนาดว่าเมื่อหยุดเล่นแล้วอยู่ในที่เย็นๆ อากาศถ่ายเท ก็รู้สึกดีขึ้นทันที เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองร้อนหรือรู้สึกไม่สบายตัว เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว
5.ไม่ไหวให้หยุด
ถ้ารู้สึกไม่ดีขณะเล่น VR อย่าฝืนเล่นต่อเพียงเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็หาย เพราะในความเป็นจริง ยิ่งฝืนเล่นจะยิ่งทำให้อาการหนักขึ้น จากแค่เวียนศีรษะจะลามไปเป็นคลื่นไส้อาเจียนได้ บางคนปวดหัว ปวดกระบอกตา และหน้ามืดเป็นลมเลยก็มี ดังนั้นต้องหยุดแล้วพักสายตาทันที จะจิบน้ำก็ช่วยได้อีกทาง
6.กินยาแก้เมา
เพราะ VR Motion Sickness เป็นอาการที่เกิดจากสาเหตุทำนองเดียวกับการเมารถเมาเรือ ถ้าหากหยุดเล่นแล้ว พักแล้ว ยังไม่หาย ทางออกที่ได้ผลชะงัด คือ กินยาแก้เมา ในกลุ่ม Dramamine เพื่อลดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ทว่าอยากให้เป็นทางเลือกท้ายๆ เพราะการกินยาบ่อยๆ อาจส่งผลเสียต่อตับได้
7.พบแพทย์
นี่คือทางออกสุดท้าย ในกรณีที่ทำทุกทางแล้วแต่ VR ก็ยังเป็นของแสลง แต่หัวใจยังเพรียกหาประสบการณ์โลกเสมือนของ VR แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของร่างกาย ไม่ว่าจะสายตาหรือระบบประสาทต่างๆ เพราะบางครั้งการที่ร่างกายผิดปกติหรือมีโรคประจำตัวบางชนิดก็ส่งผลให้เล่น VR ไม่ได้เหมือนกัน เช่น ไมเกรน, พาร์กินสัน, โรคเกี่ยวกับหูชั้นใน เป็นต้น