ขยายขอบเขต 'สงครามไมโครชิป' สหรัฐอเมริกา และ จีน (ตอนจบ)
สัปดาห์ที่แล้วผมได้เขียนเรื่อง สงครามไมโครชิป และได้อธิบายให้เห็นถึงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม โดยกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความยากมากในการผลิต มีห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนไม่มีประเทศใดผูกขาดได้
สัปดาห์ที่แล้วผมได้เขียนเรื่อง สงครามไมโครชิป และได้อธิบายให้เห็นถึงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม โดยกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความยากมากในการผลิต มีห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนไม่มีประเทศใดผูกขาดได้ ซึ่งประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องมี ดังนี้
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีบริษัทระดับโลกอย่าง Intel, AMD, Nvidia, Micron, และ Texas Instruments เป็นต้น มีเทคโนโลยีชั้นนำทางด้านนี้ และเป็นผู้ออกแบบไมโครชิปชั้นนำต่างๆ
ไต้หวัน มีโรงงานผลิตไมโครชิปที่ครองตลาดมากถึง 63% โดยมีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่คือ TSMC และ UMC บริษัทในไต้หวันจะรับจ้างผลิตให้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกาอย่าง Apple, AMD, Nvidia และ Qualcomm เป็นต้น
เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีการผลิตไมโครชิปครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการมีโรงงานผลิต โดยมีบริษัท Samsung Electronics เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 17% ของโลก
ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการผลิตไมโครชิปใหญ่เป็นอันดับสาม และมีโรงงานผลิตไมโครชิปถึง 102 แห่ง
เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีบริษัท ASML ที่ทำในด้านการฉายเลเซอร์ในการพิมพ์ไมโครชิปนี้ โดยครอบคลุมส่วนแบ่งการตลาดไปถึง 90%
จีน สั่งซื้อไมโครชิปใหญ่ที่สุด สูงถึง 58% ในตลาดโลก เป็นผู้ผลิตวัสดุในการผลิตไมโครชิปรายใหญ่สุดอย่าง ซิลิคอน สัดส่วนมากกว่า 70% รวมถึงวัสดุหายากอย่างแกลเลียม และเยอร์มาเนียม มีสัดส่วน98% และ 68% ของโลกตามลำดับ
การขาดแคลน ไมโครชิป กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกหลังจากมีความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ ถูกฝังไมโครชิปเข้าไปเพิ่มความชาญฉลาด อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการใช้เทคโลยีไอทีมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ก็เกิดการกีดกันการค้าที่ทั้งสหรัฐอเมริกา และจีนต่างทำให้การค้าขายระหว่างผู้ผลิต และผู้ซื้อในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ทำได้ยากขึ้น ประกอบกับโควิด-19 จีนมีนโยบายล็อกดาวน์ปิดประเทศ ปัญหานี้ยิ่งดูหนักขึ้น
หลังระบาดโควิด-19 สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดส่งออกเทคโนโลยีไมโครชิปขั้นสูงไปยังจีน มีความเป็นไปได้ในการใช้ทางทหาร กำหนดให้บริษัทในสหรัฐฯ ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนส่งออกเทคโนโลยีที่ละเอียดอ่อนไปยังจีนและประเทศที่เกี่ยวข้องอื่นๆ นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตไปถึงการตรวจสอบการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวกับการวิจัย พัฒนา และผลิตไมโครชิป และได้ขึ้นบัญชีดำกับบริษัทจีนหลายราย
มาตรการควบคุม ไม่เพียงกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนอย่าง Huawei และ ZTE และบริษัทผู้ผลิตไมโครชิปของจีนอย่าง SMIC แต่ยังรวมถึงบริษัทสหรัฐอเมริกาอย่าง Micron Technology และ Qualcomm ที่ออกแบบหรือผลิตไมโครชิปส่งให้จีน และบริษัท ASML ในเนเธอร์แลนด์ ที่ไม่สามารถทำธุรกรรมการค้ากับจีนได้
นอกจากนี้ เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาออกกฎหมาย Chips and Science Act 2022 เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมไมโครชิปในประเทศ และเพิ่มความสามารถแข่งขันในตลาดโลก มีมาตรการสำคัญ เช่น จัดสรรงบประมาณ 250 พันล้านดอลลาร์สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ใน 5 ปีข้างหน้า ให้เครดิตภาษีลงทุน 25% สำหรับบริษัทที่ลงทุนผลิตไมโครชิป แต่กำหนดให้ผู้ได้สนับสนุนการเงินจากรัฐบาลต้องยินยอมไม่ขยายการผลิตไปยังจีน หรือประเทศอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ
กฎหมายนี้ ทำให้ Intel ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตไมโครชิปขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ผู้ผลิตไมโครชิปรายใหญ่สุดอย่าง TSMC ของไต้หวัน จะมาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
ขณะที่จีน พยายามออกมาตรการตอบโต้ เช่น ควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัท Micron Technology อ้างว่ามีความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ ล่าสุดควบคุมส่งออกวัสดุหายากสองตัว คือ แกลเลียม (Gallium) และเยอร์มาเนียม (Germanium) วัสดุสำคัญในการผลิตไมโครชิป ทำให้บริษัทผู้ผลิตไมโครชิปต้องหาแหล่งทดแทนนำเข้าวัสดุเหล่านี้
สงครามไมโครชิป กำลังขยายผลไปยังประเทศต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีไอทีในการขยายตัว และต้องหาแหล่งอื่นๆ ในการหาวัสดุ โรงงานผลิตไมโครชิป รวมทั้งประเทศยุโรป ที่เริ่มหาแนวทางพึ่งพาตนเองมากขึ้นในการผลิตไมโครชิป
การแข่งขันในสงครามนี้จำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้าง และควบคุมตลาดที่ซับซ้อนและแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งการออกแบบไมโครชิปและนวัตกรรมด้านวัสดุ รวมถึงนวัตกรรมในโมเดลธุรกิจ และความหลากหลายผลิตภัณฑ์
แต่ถ้าถามว่าใครจะชนะสงครามไมโครชิปนี้ ซึ่งตอนนี้เป็นสงครามที่เกินกว่าความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ คงจะคาดการณ์ได้ว่าน่าจะไม่มีผู้ชนะ มีเพียงผู้แพ้เท่านั้น และผู้แพ้ที่แท้จริงคือ “ผู้บริโภค”