ผู้สมัครเลขากสทช.โวย "สรณ" รวบอำนาจตัดสิทธิ์ผู้สมัครทุกคน เว้น 'ไตรรัตน์'
สุดทน! ผู้สมัครเลขาธิการ กสทช. โวย ประธาน กสทช รวบอำนาจตัดสิทธิ์ผู้สมัครทุกราย ยกเว้น “ไตรรัตน์” แบบไม่สนเสียงกรรมการ กสทช.ทั้งคณะ
มหากาพย์ไม่จบ สำหรับกระบวนการคัดเลือก เลขาธิการ กสทช. คนใหม่ ที่เรียกว่าติดกระดุมผิดเม็ดตั้งแต่วันแรก เมื่อ ประธานบอร์ด กสทช. ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ใช้อำนาจประธานในที่ประชุมโหวตให้ตัวเองมีสิทธิเสนอชื่อ เลขาธิการ กสทช.แต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องผ่านกระบวนการสรรหา เลขาธิการ กสทช.
มีรายงานว่า ในวันที่ 23 ส.ค. นี้ ในการประชุม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มี ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เป็นประธาน จะมีการเสนอวาระการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น "ไตรรัตน์" คนสนิทคุ้นมือ
โดย ก่อนหน้านี้ ศ.คลินิก นพ.สรณ ได้ทยอยส่งหนังสือแจ้งผลการคัดเลือกฯ ไปยังบุคคลที่สมัครเข้ารับคัดเลือกเป็น เลขาธิการ กสทช. แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า “ประธาน กสทช. ขอแจ้งให้ทราบว่า ท่านไม่ได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจแสดงความประสงค์สมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งดังกล่าว” ซึ่งเป็นที่กังขาอย่างมากว่า เหตุใด ประธาน กสทช. จึงตัดสินใจเพียงผู้เดียว โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด กสทช ทั้งคณะ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้สมัครเลขาฯ ส่วนใหญ่ไม่พอใจ จึงได้มีการส่งจดหมายโต้แย้ง ถึง ประธาน กสทช ที่ใช้อำนาจมิชอบแต่เพียงผู้เดียวในการตัดสิทธิ์ผู้สมัครทั้ง 7 ราย โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของกรรมการ กสทช ท่านอื่นๆ เลย ซึ่งเป็นการทำผิดหลักกระบวนการสรรหาเลขาฯ และหลักธรรมาภิบาล โดยเจตนาเหลือไว้เพียงนายไตรรัตน์รายเดียว ซึ่งประธานเตรียมชงเข้าที่ประชุม เพื่อรับตำแหน่งเลขาฯ กสทช แบบนอนมา
เปิดคำโต้แย้ง ผู้สมัครตำแหน่งเลขาฯ กสทช ที่โดนตัดสิทธิ์
คำโต้แย้งของผู้สมัครรายหนึ่ง ระบุว่า “การพิจารณาคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการโดย ประธาน กสทช. เพียงคนเดียว ซึ่งตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 61 กำหนดให้ การแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. กระทำโดยประธาน กสทช. โดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการ กสทช. แสดงให้เห็นว่าการดำเนินการต้องมีลักษณะเป็น “คณะกรรมการ” ประกอบไปด้วย กรรมการ กสทช. จำนวน 7 คน โดยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายผ่านการ “ลงมติ”
โดยที่กรรมการ กสทช. 1 คนมี 1 เสียงในการลงคะแนน และเมื่อที่ประชุม กสทช. ได้คะแนนเสียงข้างมากของกรรมการ กสทช. ผู้มาประชุม หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ กสทช. ทั้งหมด ฉะนั้นการที่จะตัดสินใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องมีการลงมติ จากคณะกรรมทั้งหมด มิใช่จาก ประธานเพียงแค่ท่านเดียว”
ด้านผู้สมัครอีกราย ให้เหตุผลในเอกสารว่า “อำนาจในการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของ กสทช. ทั้งคณะ มิใช่อำนาจของประธานกรรมการแต่ผู้เดียว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ประกอบกับระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการประชุม การคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. โดยหนังสือแจ้งผลการคัดเลือกดังกล่าวจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ดังนั้น จึงขอให้ประธาน กสทช. ดำเนินการแก้ไขกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช.ให้ถูกต้องภายใน 15 วัน โดยให้นำรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติ ที่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ทุกคนและนำผลเข้าสู่การพิจารณาของ กสทช.ทั้งคณะ ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป”
ส่วนอีกราย ระบุในเอกสารว่า “กระบวนการคัดเลือกดังกล่าว มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง และขาดความชัดเจน อาทิ มีการขยายเวลารับสมัครตามที่ประกาศปรากฎอยู่ในสื่อสาธารณะหลังจากวันหมดเขตการรับสมัครในครั้งแรก ซึ่งอาจส่งผลถึงการได้เปรียบเสียเปรียบ อีกทั้ง มีการเพิ่มขั้นตอนการพิจารณาโดยไม่เคยมีการแจ้งถึงการสัมภาษณ์และการแสดงวิสัยทัศน์ มาก่อน แต่กลับมาแจ้งภายหลังและกำหนดระยะเวลาแบบกระชั้นชิดและมีข้อจำกัดในการนำเสนอหลายประการ นอกจากนี้ ยังไม่มีการชี้แจงหรือประกาศผลการพิจารณาคัดเลือก ตามกระบวนการที่ควรจะเป็น”
“การพิจารณาและคัดเลือกเลขาฯ กสทช.ต้องแสดงถึงหลักการและเหตุผลในการพิจารณา เกณฑ์การให้คะแนน ผลของการแสดงวิสัยทัศน์ และควรมีการพิจารณาประวัติการทำงาน เรื่องร้องเรียนต่างๆ และความสำเร็จที่ส่งเสริมการทำงานของ กสทช. ด้วย ซึ่ง กสทช. เป็นคณะกรรมการที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้บัญญัติให้มีการใช้อำนาจต่างๆ ในการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองใดๆ ต้องอยู่ในกรอบแห่งกฎหมายที่ต้องดำเนินการโปร่งใสและเป็นธรรม ตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาลของ กสทช. ไม่ใช่กระทำการให้เกิดข้อครหาเช่นครั้งนี้” ผู้สมัครรายหนึ่งให้เหตุผลโต้แย้งต่อกรณีดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า กรรมการ กสทช. อีก 4 ราย ไม่เห็นด้วย หากจะมีการแต่งตั้งนายไตรรัตน์ เป็นเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ บอร์ด กสทช. เคยมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายไตรรัตน์ กรณีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งยังไม่พิจารณาไม่แล้วเสร็จ