‘ดัชนีดิจิทัลไทย' ความเหลื่อมล้ำ ‘ลดลง’ เข้าถึงเน็ตทะลุ 89% ต่อครัวเรือน
สดช.เปิดตัวเลข 'ดิจิทัล เอ้าท์ลุค' คนไทยเข้าถึงเน็ตทะลุ 89% ต่อครัวเรือน ใช้เน็ตต่อวัน 7.25 ชั่วโมง ไถฟีดโซเชียลมีเดีย 92% ความเหลื่อมล้ำ ‘ลดลง'
นับเป็นปีที่ 5 ของโครงการศึกษา ไทยแลนด์ ดิจิทัล เอ้าท์ลุค (Thailand Digital Outlook) ประจำปี พ.ศ.2566 ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มอบหมายให้สำนัก คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ศึกษาตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศ ครอบคลุม 8 มิติเชิงนโยบาย
ทั้งนี้ เพื่อสำรวจความเหลื่อมล้ำการเข้าถึง อินเทอร์เน็ต กิจกรรมการใช้งานดิจิทัลของไทย เป็นแนวทางวางเป้าหมายขับเคลื่อนเพิ่มความเท่าเทียม (Digital Inclusion) ให้ประชาชนทุกกลุ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิต ปลายทางหวังวางแนวนโยบายการพัฒนาดิจิทัลของประเทศในอนาคต
สัดส่วนการเข้าถึงเพิ่มทุกมิติ
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดดีอีเอส เปิดเผยว่า การสำรวจพบว่า ตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศที่สำคัญ ได้แก่ มิติการเข้าถึง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 89.50% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีการเข้าถึง 88.00% มิติการใช้งาน สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทย 87.60% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 85.00% มิติอาชีพ สัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2566 คิดเป็น 35.96% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่ 34.40%
มิติสังคม สัดส่วนใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุ ช่วง 55-74 ปี ในปี พ.ศ. 2566 คิดเป็น 71.60% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่แค่เพียง 63.10% และมิติการเปิดเสรีของตลาด สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้า/บริการผ่านทางออนไลน์ไปตลาดต่างประเทศ ปี 2566 สูงถึง 31.53% เทียบกับปี 2565 มีสัดส่วนเพียง 26.29%
ในมิติอื่น ๆ พบว่า มิติด้านนวัตกรรม มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมไอซีทีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2565 อยู่ที่ 0.93% มิติความน่าเชื่อถือ ร้อยละผู้ประสบปัญหาถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล/ความเป็นส่วนตัว เท่ากับ 14.52% และ มิติการเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจดิจิทัล ปี 2565 คิดเป็น 40% ของภาคอุตสาหกรรมรวม
ความเหลื่อมล้ำดิจิทัลลดต่อเนื่อง
ในประเด็นสำคัญที่พบจากผลการสำรวจฯ ประจำปี 2566 พบว่า ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 อยู่ที่ 11.9% ลดเหลือ 6.5% ในปี 2566 ผู้รับบริการออนไลน์ภาครัฐ 66.17% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการปรับเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการใช้งาน 75.92% ของหน่วยงานบริการปฐมภูมิทั่วประเทศมีการให้บริการออนไลน์ เพื่อเพิ่มทางเลือก/ช่องทางในการให้บริการ พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตสะท้อนให้เห็นการเข้าสู่สังคมดิจิทัล
โดยคนไทยมีแนวโน้มใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น ชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7 ชั่วโมง 25 นาที ต่อวัน ส่วนกิจกรรมดิจิทัลที่คนไทยใช้งานในปี 2566 มากสุด คือ การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ตามด้วยใช้เพื่อสนทนา และ รับชมวีดีโอคอนเทนต์ สินค้าและบริการออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สินค้าแฟชั่น สินค้าอุปโภคบริโภค บริการ Delivery และสินค้า/บริการเพื่อความบันเทิง ภาคธุรกิจตื่นตัวในเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก แต่การใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ยังกระจุกตัวในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่
แรงงานดิจิทัลต้องเพิ่มสกิล
ขณะที่ แรงงานดิจิทัลทวีความสำคัญมากขึ้น ภาคธุรกิจบางส่วนมีการจัดจ้าง Digital Nomad มาทดแทนแรงงานที่หายากและขาดแคลน อีกทั้งในอนาคต ยังมีความต้องการสายงานดิจิทัลอยู่อีกมาก คนไทยส่วนใหญ่มีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในการทำงาน แต่ทักษะสำคัญเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและทักษะเพื่อรองรับอนาคตยังไม่สูง ยกเว้นคนรุ่นใหม่ในเรื่อง Coding และ ปัญหาการใช้งานดิจิทัลทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวง เว็บพนันลามก ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของภาคประชาชน
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการสดช. กล่าวทิ้งท้ายว่า สดช. ได้สำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ครอบคลุมตัวชี้วัดตามมาตรฐานสากลที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือองค์การ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development)
ตลอดจนศึกษาเพิ่มเติมในกรอบตัวชี้วัดที่สะท้อนบริบทของประเทศไทย อันจะช่วยให้ประเทศไทยมีข้อมูลที่สะท้อนภาพไทยแลนด์ ดิจิทัล เอ้าท์ลุคที่เด่นชัด เห็นถึงจุดเด่นของการพัฒนาด้านดิจิทัลที่ประเทศไทยมี เปรียบเทียบกับนานาประเทศ ทราบถึงปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดที่จะต้องเร่งเข้าไปแก้ไข และพัฒนาด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นฐานข้อมูลตัวชี้วัดด้านดิจิทัลสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ในอนาคต