ควบแล้วแพง? กสทช.จับไต๋ 'ค่ายมือถือ' เล็งคลอด 'ดัชนีกลางค่าโทร' ต้นปี 67
กสทช.นับหนึ่งผุด 'ดัชนีราคาค่าบริการโทรคมนาคม' ครั้งแรกของประเทศ!!! หวังหาคำตอบคนไทยจ่ายค่าบริการแพงขึ้นหรือไม่ หลัง 'ทรูควบรวมดีแทค' ทำตลาดเหลือ 2 ขาใหญ่เท่านั้น คาดแล้วเสร็จไตรมาสแรกปี 2567
นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า สายงานวิชาการ ของ สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างจัดทำ ดัชนีราคาในกิจการโทรคมนาคมขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ ผ่านการศึกษา และจัดทำต้นแบบดัชนี เพื่อหาคำตอบราคา โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งแบบรายเดือน (โพสต์เพด) และแบบเติมเงิน (พรีเพด) รวมถึงราคาอินเทอร์เน็ตบ้าน เพื่อหาคำตอบว่า ปัจจุบันคนไทยจ่ายค่าบริการแพงขึ้นหรือถูกลง
โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลจากแพ็กเกจของค่ายมือถือที่มีอยู่บนเว็บไซต์ และ ที่แจ้งเข้ามา รวมถึงข้อมูลการเลือกใช้แพ็กเกจของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อนำมาคำนวณด้วยวิธีทางเทคนิค ให้ได้ค่าดัชนีของค่าบริการออกมา คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 และจะจัดทำในทุกไตรมาสต่อไป
ปัจจุบันกิจการโทรคมนาคมเข้าสู่การให้บริการแบบหลอมรวม ผู้ใช้บริการไม่ได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อการโทรเพียงอย่างเดียว โดยอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และกลายเป็นสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่ง ค่าโทร เหมือนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถ
จากสถิติจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2565 พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 126.4 ล้านเลขหมาย ซึ่งสูงกว่าตัวเลขประชากรไทยเกือบหนึ่งเท่าตัว ส่วนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีผู้ใช้บริการจำนวน 13.23 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อจำนวนครัวเรือนอยู่ที่ 56.11 %
ขณะที่พัฒนาการของเทคโนโลยีมีผลอย่างมากต่อการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการเติบโตของจำนวนผู้ใช้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ราคาที่ผู้ประกอบการเก็บค่าบริการจากตนเองนั้นแพงขึ้นหรือถูกลงย่อมมีผลกระทบต่อผู้บริโภค กลายเป็นต้นทุนของประชาชน สร้างความเหลื่อมล้ำ และสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงสะท้อนให้เห็นในด้านการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมด้วย
ดังนั้น ผลจากการจัดทำดัชนีราคาค่าโทรครั้งนี้ จะสะท้อนให้เห็นผลของการควบรวมกิจการโทรคมนาคม จาก 3 รายใหญ่ของไทยเหลือเพียง 2 ราย คือ เอไอเอส และ ทรู ซึ่งหลังจากที่ ทรูควบรวมดีแทค ด้วยว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากผลของราคา ที่จะแสดงออกมาให้เห็นจากการแข่งขันของผู้ประกอบการที่เหลือน้อยราย หากผลออกมาว่ามีราคาแพงขึ้น สำนักงาน กสทช. ต้องมีหน้าที่ในการเข้าไปกำกับดูแล
“ดัชนีราคาที่ได้ต้องหาจุดเหมาะสมด้วย ทั้งผู้บริโภคที่ต้องได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าบริการ และโอเปอเรเตอร์ยังสามารถทำธุรกิจได้ หากกำหนดราคาต่ำไป จะส่งผลกระทบให้ไม่มีเงินลงทุนขยายโครงข่ายและปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ”
นายศุภัช กล่าวว่า สำหรับการจัดทำดัชนีราคาโทรคมนาคมจะถูกออกแบบมาเพื่อสะท้อนราคาให้ผู้บริโภคเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าผู้ใช้บริการได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบรายเดือน และอินเทอร์เน็ตบ้านแพงขึ้นหรือถูกลงจากช่วงที่ผ่านมาอย่างไร
เช่น ก่อนและหลังการควบรวมกิจการของค่ายมือถือ ระดับราคาขึ้นหรือลงอย่างไร โดยจะแยกให้เห็นภาพของระดับราคา เป็นรายไตรมาส และจะนำผลการศึกษานำเสนอผ่านเว็บไซต์ ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการได้ปรับการเสนอขายบริการ จากเดิมที่แยกราคาต่อหน่วยชัดเจน มาเป็นบริการในลักษณะแพ็กเกจ (bundle) เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าที่หลากหลาย จึงยิ่งทำให้ผู้ใช้บริการพิจารณาได้ยากว่า ราคาที่ใช้อยู่นั้นแพงขึ้น หรือถูกลง เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนมากขึ้น และในอนาคตจะเพิ่มผลการศึกษาในส่วนของเพย์ ทีวี และโอทีที ด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า ดัชนีราคาในกิจการโทรคมนาคมของต่างประเทศมีการจัดทำอย่างแพร่หลายเช่นกัน อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนนาดา และออสเตรเลีย เป็นต้น ทว่าในประเทศไทยยังไม่เคยมีการทำมาก่อน การจัดทำดัชนีราคาโทรคมนาคมครั้งนี้จึงนับว่าเป็นการจัดทำครั้งแรกของประเทศไทย