‘ซีคอนสแควร์’ เลือก ‘อินเวอร์เตอร์อัจฉริยะ’ หัวเว่ย หนุน ’โซลาร์รูฟท็อป
‘ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์’ และ ‘ศูนย์สรรพสินค้าซีคอน บางแค’เลือก ‘อินเวอร์เตอร์อัจฉริยะ’ หัวเว่ย หนุนโครงการ ’โซลาร์รูฟท็อป’ ปูทางความยั่งยืนธุรกิจ
‘ซีคอน’ คือ หนึ่งในศูนย์สรรพสินค้าที่มีการใช้พลังงานสะอาดมากที่สุดแห่งหนึ่งในไทย หนึ่งในเป้าหมายหลักของบริษัท คือ ต้องมีรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา ซีคอน ได้ติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ “โซลาร์รูฟท็อป” บนอาคารของศูนย์สรรพสินค้า นับเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่การจะทำให้ระบบโซลาร์เซลล์ มีประสิทธิภาพมากที่สุดต้องอาศัยกลไกสำคัญอย่างตัว อินเวอร์เตอร์ หรือ การแปลงกระแสไฟฟ้า ซึ่งซีคอน เลือกใช้ อินเวอร์เตอร์อัจฉริยะของ ‘หัวเว่ย’ ทำให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ของซีคอนมีประสิทธิภาพบริษัทสามารถประหยัดค่าไฟได้ 15% หรือ ราว 30 ล้านบาทต่อปี
ดร.พรต ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการสำนักปฏิบัติการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ที่ผ่านมาซีคอน ให้ความสำคัญเรื่องของการบริหารจัดการ การใช้พลังงานภายในศูนย์สรรพสินค้า และได้มีแผนลดต้นทุนการใช้พลังงานลง โดยหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทน
“ปัจจุบัน ค่าไฟของศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ และ ศูนย์สรรพสินค้าซีคอน บางแค ต่อปีอยู่ที่ประมาณ กว่า 400 ล้านบาท ตกเดือนละกว่า 30 ล้านบาท มาคิดว่าจะมีวิธีไหนที่จะลดได้มากกว่านี้ จึงศึกษาเรื่องแผงโซลาร์เซลส์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ได้บินไปดูโรงงานที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย เกาหลี จีน หลายเมืองด้วยกัน เราดูและเปรียบเทียบกับหลายยี่ห้อ หลายบริษัท หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญของการติดตั้งโซลาร์เซลส์ คือ อินเวอร์เตอร์ (Inverter) สำหรับการแปลงกระแสไฟฟ้าจาก DC เป็น AC เรามักคิดว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าของเยอรมันจะดีที่สุด แต่พอมายุคนี้เมื่อศึกษาเข้าไปลึกๆ กลายเป็นว่า อินเวอร์เตอร์ หรือตัวแปลงกระแสไฟฟ้าดีที่สุดในโลกที่คนใช้กัน กลับกลายเป็นของจีน ซึ่งซีคอนเลือกที่จะใช้อินเวอร์เตอร์ของหัวเว่ย”
ดร.พรต อธิบายต่อว่า ในส่วนของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แนวโน้มในไทยกว่า 90% มักใช้แผงที่เรียกว่า โมโนเพิร์ก (Mono PERC) เป็นแผงที่คนทั่วไปใช้กันเป็นแผงด้านเดียว ใช้เทคโนโลยีที่นำโลหะ 2-3 ชิ้นมาเชื่อมติดกันกับตัวซิลิคอนเพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีการผลิตได้เยอะ และราคาไม่แพง โมโนเพิร์กที่ดีสุดตอนนั้นจะเป็นของเกาหลี บริษัทก็ไปดูและศึกษามาเรียบร้อยแล้ว แต่มีอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ดีกว่า เรียกว่า “เอ็นไทป์” (N-Type) ซึ่งในส่วนโมโนเพิร์ก จะเป็น positive charge คือ ปะจุไฟที่เป็นบวก แต่เอ็นไทป์ จะเป็นเนกาทีฟ ชาร์จ ประจุไฟที่เป็นลบ กลายเป็นว่า เอ็นไทป์ ประสิทธิภาพสูงกว่า
ขณะที่ ในประเทศไทยมีใช้แผงแบบ เอ็นไทป์ ไม่ถึง 5% ตอนนี้ก็ยังน้อยอยู่ เพราะว่าค่าใช้จ่ายสูงกว่า 20-30% แต่ ซีคอน ก็เลือกใช้ เอ็นไทป์ ซึ่งเป็นยี่ห้อของบริษัทที่ผลิตให้กับ แบรนด์ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ชั้นนำของโลก เป็นเทคโนโลยีผลิตที่เมืองจีน ส่วนอินเวอร์เตอร์ หลังจากศึกษามาทั้งหมด ซีคอนเลือกที่จะใช้ ‘หัวเว่ย’ เพราะในยุโรปก็ใช้แม้จะอยู่ติดกับเยอรมันที่เครื่องใช้ไฟฟ้าดี แต่ก็ยังสู้หัวเว่ยไม่ได้ จากหลายสาเหตุด้วยกัน
โดยอินเวอร์เตอร์ หัวเว่ย จะใช้ ‘ระบบปิด’ ซึ่งปกติการระบายอากาศ เวลาแปลงไฟจะร้อน การระบายอากาศต้องดี ซึ่งส่วนมากของเยอรมันยุโรปยี่ห้ออื่นจะเป็นระบบเปิด หมายความว่า อากาศสามารถผ่านเข้าไปในระบบเพื่อไประบายความร้อนได้ แต่ในเมืองไทยคุณภาพอากาศไม่เท่าเมืองนอก มีฝุ่น มีแมลง หากถ้าใช้ระบบเปิด ฝุ่น แมลงจะเข้าไปอยู่ในไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เกิดความเสียหาย อีกเรื่อง คือ ความชื้นซึ่งประเทศไทยมีความชื้นสูงมากกว่า 80% หน้าฝนความชื้นจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ซึ่งความชื้นกับอิเล็กทรอนิกส์ไปด้วยกันไม่ได้ พอเป็นระบบเปิดความชื้นสามารถแทรกเข้าไปในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดความเสียหาย อุปกรณ์เสื่อมไปจนถึงขี้นสนิม
“แต่ของหัวเว่ย ซึ่งเป็นระบบปิด จะใช้วิธีการระบายอากาศ ผ่านครีบระบายอากาศแทน พออากาศวิ่งผ่าน จะดูดความร้อนจากตัวอินเวอร์เตอร์ไประบายที่ตัวครีบ ตอนไปดูที่ หัวเว่ย เสิ่นเจิ้น เขาทดลองให้ดูว่า ขนาดอยู่ในน้ำยังทำงานได้ปกติเห็นได้เลยว่า บ้านเราถ้าเวลาฝนตกจะไม่พังแน่นอน อีกอัน คือ ลองเอาสปอตไลต์ที่มีวัตต์สูงๆ จ่อติดเพื่อให้เกิดความร้อนของหัวเว่ยก็ยังระบายความร้อนได้ เราก็ทึ่งกับเทคโนโลยีเขา แล้วเลือกที่จะใช้”
ดร.พรต ย้ำว่า โครงการโซลาร์รูฟท็อปของศูนย์สรรพสินค้าซีคอน นับเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรูฟท็อปอาคารในเมืองใหญ่ ผลิตพลังงานไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ ซึ่งด้านบนอาคารของศูนย์สรรพสินค้าเป็นอาคารเดี่ยว ที่มีพื้นที่ด้านบนแผ่กว้างมาก มีแผง panel ทั้งหมด 15,000 แผ่น บนพื้นที่หลังคาประมาณ 40 ไร่ ปูแผงเต็มพื้นที่ อินเวอร์เตอร์อัจฉริยะของหัวเว่ย สามารถตรวจหา (detect) ได้ด้วยว่า แผงไหนไม่ perform ซึ่งถ้าเป็นอินเวอร์เตอร์ยี่ห้ออื่นจะไม่มีทางรู้เลย
“เทคโนโลยีที่หัวเว่ยโชว์ให้ดูนั้น สามารถที่จะ detect ได้ว่า แผงไหนการทำงานดรอปลง เมื่อเทียบกับแผงข้างเคียง เราสามารถที่จะตรวจสอบได้ ข้อดีของหัวเว่ย คือ เรียลไทม์ สามารถ detect ได้ทุกวันว่า อันไหนไม่ perform ซึ่งไม่มีคนอื่นทำได้เท่าหัวเว่ย”
ดร.พรต ย้ำว่า ซีคอนสแควร์ เลือกอินเวอร์เตอร์ของหัวเว่ย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซีคอนสแควร์ สามารถประหยัดพลังงานลงได้มาก โดยหากคิดค่ายูนิตไฟอยู่ที่ 5.50 บาท ซีคอนสามารถประหยัดได้ประมาณ 47 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทั้ง 2 สาขา คือ ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ และ ศูนย์สรรพสินค้าซีคอน บางแคใช้อินเวอร์เตอร์ของหัวเว่ย ทำให้ศูนย์สรรพสินค้าฯ ประหยัดการใช้พลังงานได้มาก ลดค่าไฟได้ประมาณ 15-17% ซึ่งค่าไฟที่สาขาศรีนครินทร์ ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านบาท
นอกจากโซลาร์รูฟท็อป บนอาคารศูนย์สรรพสินค้าแล้ว ซีคอนยังได้ สร้าง “สถานีจอดรถบัส Bus station” บริเวณด้านหน้าศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และใช้พลังงานที่สะอาดจาก โซลาร์รูฟท็อป เพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าในการใช้บริการด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารซีคอนฯ ย้ำว่า ปัจจุบันเป้าหมายองค์กรธุรกิจ มีอยู่ 4 ข้อที่สำคัญ 1.เพื่อสร้างผลกำไร 2.ดูแลผู้ถือหุ้น เพราะเป็นเจ้าของบริษัท 3. ดูแลพนักงาน และ 4.รับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่เป็นเรื่องสำคัญมาก และเรื่องของพลังงานหมุนเวียน เรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ วาระแห่งชาติ (national issue) เป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจต้องให้ความสำคัญ