ดีอี-สกมช.เฟ้นหา 'นักรบไซเบอร์' เผยไทยมีอัตรากำลังพลเพียง 0.5%
ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ทั้งในระดับโลกและประเทศไทยยังเข้าขั้นวิกฤติ สกมช.ระบุหน่วยงานราชการไทยที่มีบุคลากรในกลุ่มดังกล่าวเพียง 0.5% เท่านั้น
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าจัดการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย “Thailand Cyber Top Talent 2023” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 521,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่เข้าร่วมการแข่งขันได้ เรียนรู้ พัฒนาทักษะ และประสบการณ์ ให้กลายเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และเป็นการสร้างแรงงานออกสู่ตลาดแรงงานในอนาคต อีกทั้งเป็นการช่วยเพิ่มความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามออนไลน์ ให้กับบุคคลทั่วไปมากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 831 ทีม รวมทั้ง 3 ระดับ จำนวน 2,323 คน ทั่วทุกภูมิภาคประเทศไทย และคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 30 ทีม ซึ่งการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ จัดขึ้นเมื่อที่ 30 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า “ในโลกดิจิทัลและโลกที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ความสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และที่ผ่านมาจะเห็นได้จากข่าวการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วโลก อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงมาก หากมีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทั้งระบบน้ำ ระบบไฟ ธนาคาร สถาบันการเงินต่าง ๆ อันจะส่งผลทำให้ประชาชนเดือดร้อน
อีกทั้ง ยังเจอปัญหาข้อมูลรั่วไหลการหลอกลวงทางออนไลน์ จากปัญหา ภัยคุกคามลักษณะต่าง ๆ ที่คนไทยต้องเจอ และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้นในทุกวัน และจากจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้ที่มีเพิ่มขึ้น ก็นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีและเป็นอีกก้าวสำคัญในด้านการพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศได้
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการ สกมช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ทั้งในระดับโลกและประเทศไทย การพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จึงเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนของ สกมช. ในการเดินหน้ายกระดับมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศด้วยการพัฒนาบุคลากร และเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึง ภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทัดเทียมในระดับสากล สกมช. จึงร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการจัดการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย “Thailand Cyber Top Talent” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานชั้นนำด้านไซเบอร์ของประเทศไทย อาทิ TB-CERT, SOSECURE, Secure-D Center, McAiden, IT Select Lab, KTB Redteam, Group-IB, X-10, AML, Secureinfo, Nexwave, logrythm, metro, akamai, GovernTrust, MFEC, Bangkok energy, Mayaseven, TECHPIXEL, goipnow และอีกมากมายที่มาร่วมผนึกกำลังกันในปีนี้ โดยมุ่งหวังให้พัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ และ ช่วยส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์”
ผลการแข่งขันปรากฏว่า
ระดับประชาชนทั่วไป (OPEN)
• รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 100,000 บาท : ทีม TheMightyPenguins
• รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 50,000 บาท : ทีม POE
• รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 30,000 บาท : ทีม 55555
ระดับอุดมศึกษา (SENIOR)
• รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 90,000 บาท : ทีม Rebooster จาก โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
• รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 40,000 บาท : ทีม 1234 จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
• รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 เงินรางวัล 20,000 บาท : ทีม Stargazers จาก มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
ระดับมัธยมศึกษา (JUNIOR)
• รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 80,000 บาท : ทีม vtwi:t จาก โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน
• รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 30,000 บาท : ทีม Surrender จาก โรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม / สาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) / มัธยมวัดสุทธิวราราม
• รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 เงินรางวัล 18,000 บาท : ทีม IDKWHATIMDOING จาก โรงเรียนสตรีวิทยา 2 / สามเสนวิทยาลัย / เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน
พลอากาศตรี อมร กล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ทั้งในระดับโลกและประเทศไทย ยังคงเป็นโจทย์สำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะส่วนราชการไทยที่มีบุคลากรในกลุ่มดังกล่าวเพียง 0.5% เท่านั้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนของ สกมช. ในการเดินหน้ายกระดับมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศด้วยการพัฒนาบุคลากร และเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทัดเทียมในระดับสากล