เส้นทางยักษ์พีซี ‘เอเซอร์’ ธุรกิจบนรหัส ‘ความยั่งยืน’
ยักษ์พีซี “เอเซอร์” เผยแนวทางร่วมสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งขจัดปัญหามลพิษทางขยะ ร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ผ่าน 3 โครงการความร่วมมือ “ถูกทิ้ง | ทิ้งถูก ” “เหลือขอ” และ “ทอใหม่” หวังสร้างแรงกระเพื่อมการรับรู้-แก้ปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน
นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เอเซอร์ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน กำหนดแนวทางการปฎิบัติไว้ 3 แนวทางคือ Climate Change, Circular Economy และ Social Impact โดยแต่ละแนวทางได้กำหนดเป้าหมายดังนี้
Climate Change: มุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ มีการใช้พลังงาน น้อยลง 45% ภายในปี 2025 โดยเทียบกับปี 2016 เอเซอร์มีส่วนผลักดันให้ ซัพพลายเออร์ มุ่งมั่นในการปฏิบัติตาม RE100 และ SBT เพื่อช่วยลดคาร์บอน
Circular economy: เพิ่มปริมาณการนำพลาสติก PCR 20-30% มาใช้ในสินค้ากลุ่มต่างๆ ของเอเซอร์ทั้งคอมพิวเตอร์ จอแสดงผลโปรเจคเตอร์ และอื่นๆ
Social Impact: พนักงานมีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมมากกว่า 90% เอเซอร์เชื่อว่า “ความยั่งยืน” ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ภายใต้โครงการ Earthion ได้เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานในองค์กร พาร์ตเนอร์และลูกค้า ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการลงมือทำเพื่อช่วยลดปัญหามลพิษ และหวังว่าจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมแบบยั่งยืนสู่สังคม
ชู 3 กิจกรรมจัดการ E-Waste
ปัจจุบัน เอเซอร์ดำเนินการผ่าน 3 กิจกรรมได้แก่ "ถูกทิ้ง | ทิ้งถูก" โครงการด้าน E-Waste ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยตั้งจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ณ ศูนย์บริการเอเซอร์กว่า 10 สาขา และมีแผนจะเพิ่มจุดวางให้ได้มากขึ้น 30% จากการร่วมมือกับพาตเนอร์ในปี 2022 เอเซอร์รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ถึง 918 กก. และคาดว่าในปี 2023 จะเพิ่มขึ้น 20%
“ทอใหม่ (จาก) เส้นใย ขวดเก่า” รวบรวมและนำส่งขวดน้ำพลาสติก ส่งต่อให้กับศูนย์การเรียนรู้และจัดการขยะชุมชน “วัดจากแดง” เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นเส้นใยพลาสติกและผลิตเป็นผ้าไตรจีวรสำหรับพระสงฆ์ ตั้งแต่เริ่มกิจกรรมจนถึงขณะนี้ได้ส่งต่อขวดน้ำพลาสติกไปยังวัดจากแดง รวมแล้วมากกว่า 1,800 ขวด ช่วยผลิตผ้าไตรจีวรได้มากว่า 120 ชุด
“เหลือขอ: ขอที่เหลือ เพื่อแบ่งปัน” ร่วมกับมูลนิธิบ้านนกขมิ้นสร้างคุณค่าให้กับของเหลือใช้ ส่งต่อเป็นโอกาส รายได้สำหรับค่าอาหาร ค่าเทอมให้กับเด็กๆ
จากความสำเร็จของทั้ง 3 กิจกรรม นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เอเซอร์จะนำไปขยายผลและต่อยอดไปสู่โครงการอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
จุดพลุสายผลิตภัณฑ์ ‘Vero’
เอเซอร์ยังได้ขยายไลน์อัปผลิตภัณฑ์จากการผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบรับไลฟ์สไตล์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมด้านพลังงานทดแทน
ภายใต้สายผลิตภัณฑ์ “Vero (เวโร่)” สินค้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล จะมีทั้งโน๊ตบุ๊ก จอมอนิเตอร์ โปรเจคเตอร์ แก็ดเจ็ต เราท์เตอร์ เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ โดยบริษัทแม่กำหนดให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 15% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่นำออกมาทำตลาดภายในปี 2025
พร้อมกันนี้ เสริมผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อาทิ เครื่องกรองน้ำ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนด้วยจักรยานไฟฟ้า และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี แม้สินค้ากลุ่มนี้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าปกติ 10% ทว่าเอเซอร์พยายามบริหารจัดการ และทำให้ราคาใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่ทั้งนี้ยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องความสวยงามเนื่องจากวัสดุการผลิต ทำให้อาจไม่เป็นที่นิยมในตลาดแมส
สำหรับแนวทางการตลาด พยายามเข้าถึงทัชพอยต์ มีการสื่อสารเปรียบเทียบอย่างเป็นรูปธรรมถึงที่มาของวัตถุดิบ วิธีการผลิต รวมถึงแนวคิดและแนวทางการทำงานของพนักงาน
“ขณะนี้สัดส่วนยอดขายของซีรีส์เวโร่ ยังคงน้อยอยู่ การผลักดันตลาดให้เติบโตจำเป็นต้องได้มีหลายแบรนด์ในตลาดร่วมมือกันผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย ซึ่งขณะนี้นับว่ามีเพียงเอเซอร์เพียงรายเดียวที่เริ่มแล้วอย่างจริงจัง เบื้องต้นระยะแรกนี้คาดว่าน่ามีการใช้งานเฉพาะกลุ่มก่อน”
คาดไตรมาส 4 พีซีไทยคึกคัก
สำหรับเทรนด์ตลาดพีซีประเทศไทย ทั้งกลุ่มโน๊ตบุ๊กและเดสก์ท็อป ปัจจัยการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคหลักๆ ยังคงเป็นเรื่องของสเปคและราคา
ประเมินขณะนี้ ตลาดไอทีน่าจะถึงจุดอิ่มตัว เอเซอร์จึงพยายามขยายตลาดไปสู่กลุ่มสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากที่มีสินค้าไลน์อัปใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง
โดยภาพรวมตลาดพีซีประเทศไทย ช่วงไตรมาสที่สามสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น และไตรมาสสุดท้ายคาดว่าน่าจะดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนภาพรวมทั้งปี 2566 น่าจะทรงตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เกิดการซื้อล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
“เราได้เห็นสัญญาณบวกตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสสอง และโดยปกติไตรมาสที่สี่เป็นช่วงขาขึ้นของตลาดไอทีที่มักจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากทั้งงานอีเวนท์เช่นคอมมาร์ต ของขวัญสำหรับปีใหม่ จากปีที่แล้วตลาดพีซีไทยตกลงราย 10-15% ปีนี้น่าจะทรงตัว โดยมียอดขายประมาณ 2.4 ล้านเครื่อง”