มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้'กสทช.'ค่าโทรต้องลด 12% หลัง'ทรู'ควบ'ดีแทค'
องค์กรผู้บริโภค เรียกร้อง กสทช. ต้องนำข้อมูลออกมาเปรียบเทียบเปิดเผยต่อสังคม เหตุมีกระบวนการจับมือผูกขาดราคา สวดต้องทำตามมติที่อนุญาตให้ทรูควบดีแทคแต่ราคาเฉลี่ยทุกโปรฯต้องลดลง 12% ยังไร้วี่แวว ชี้หากตรวจสอบโปรฯทุกค่ายฮั้วราคาเท่ากันแบบเนียนๆ
นับจากวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ลงมติเห็นชอบการควบรวม 2 เครือข่ายโทรคมนาคมใหญ่ระหว่างบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างหนักของทั้งองค์กรผู้บริโภค พรรคการเมือง ภาคประชาชน หรือแม้แต่ กสทช. 2 เสียงข้างเนื่องจากพบว่าทรู ดีแทค รวมไปถึงบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ได้ปรับขึ้นอัตราค่าบริการเท่ากัน
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสริมว่า กว่า 9 เดือนหลังควบรวมทรูและดีแทคเกิดปัญหาด้านราคาและคุณภาพบริการ ล้วนมีต้นเหตุจากความเพิกเฉยของ กสทช. อีกทั้งยังไม่เห็นการลดค่าบริการเฉลี่ย 12 % ตามเงื่อนไขมาตรการเฉพาะของผู้ประกอบการในการควบรวมธุรกิจ และยังพบเอไอเอสคิดค่าบริการที่ใกล้เคียงกัน จนเหมือนเป็นการผูกขาดทางราคา โดยยังไม่เห็นกระบวนการติดตามตรวจสอบของ กสทช. นอกจากการรอฟังรายงานของผู้ประกอบการ ดังนั้น หาก กสทช. มีความจริงใจปกป้องสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค ต้องออกมาตรการตรวจสอบ-บังคับให้ผู้ประกอบการมือถือทุกค่ายเปิดเผยโครงสร้างแพคเกจต่อผู้บริโภค แต่เวลานี้ยังถูกปิดกั้นการเข้าถึง
ทั้งนี้ จึงขอเสนอให้ กสทช. เปิดเผยข้อมูลแพ็คเกจค่าโทรบริการของค่ายมือถือทุกค่ายผ่านเว็บไซต์ กสทช. รวมถึงเงื่อนไขมาตรการเฉพาะที่ผู้ประกอบการจัดทำรายงานส่งให้ กสทช. และสร้างช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถเข้าไปตรวจสอบแพ็คเกจและเงื่อนไขการให้บริการของค่ายมือถือโดยง่าย และมีระบบการส่งข้อมูลความคิดเห็น และข้อร้องเรียนโดยตรงไปที่ กสทช. ที่นอกเหนือจากเบอร์ติดต่อ 1200 โดยที่ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจากการรายงานของผู้ประกอบการแต่เพียงฝ่ายเดียว
เภสัชกรหญิงชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา เสริมว่า ปัญหาเกิดจาก กสทช. ไม่ยอมรับฟังเสียงคัดค้านจาก องค์กรผู้บริโภค ที่ชี้ให้เห็นถึงการผูกขาดและฮั้วราคา รวมถึงคุณภาพการให้บริการเครือข่ายที่แย่ลง ทำให้ทรูและดีแทคควบรวมไปแบบเนียนๆ แต่หลังจากนั้น ได้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ต ของดีแทคแย่ลง ทั้งที่ยังอยู่ระหว่างแยกแบรนด์ 3 ปี ความเร็วถูกลด ทั้งที่ซื้อแพคเก็จราคาแพง แต่กลับหมดอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีการกระตุ้นให้ลูกค้าไปใช้เครือข่ายของทรู และที่สำคัญยังมีประเด็นที่ผู้ประกอบการใช้วิธีการแบบ “ส่วนลดเฉลี่ย” หมายถึง เอาคนที่มีกำลังจ่าย มาหารเฉลี่ย ให้คนไม่มีกำลังจ่าย ทั้งที่ส่วนลดค่าบริการเฉลี่ย 12% ต้องมีแพคเก็จที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น
ดังนั้น กสทช. ควรต้องเร่งมือในการกำกับดูแลตามเงื่อนไขที่วางไว้ และต้องรายงานให้สังคมทราบด้วย เพราะความล่าช้าในการกำกับดูแล ไม่เพียงส่งผลต่อผู้บริโภคในกรณีทรูและดีแทคเท่านั้น แต่จะเป็นบรรทัดฐานไปสู่การอนุญาตควบรวมอื่นๆ เช่น เอไอเอสกับ 3บีบีในกิจการอินเทอร์เน็ตบ้าน ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในสภาวะถูกลอยแพ