เยาวชนไทยคว้าอันดับ 3 เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ NASA
เยาวชนไทยสุดเจ๋ง คว้าอันดับ 3 ศึกชิงแชมป์นานาชาติเขียนโปรแกรม ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศ ของ NASA
เยาวชนไทย ตัวแทนประเทศไทย ทีมกาแล็กติก 4 คว้ารางวัลอันดับ 3 จากการแข่งขัน"เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์" แอสโตรบี (Astrobee) ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่ปฏิบัติงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในโครงการคิโบะ โรบอต โปรแกรมมิง ชาเลนจ์ ครั้งที่ 4 (The 4th Kibo Robot Programming Challenge)
สำหรับ ทีมกาแล็กติก 4 คือ ตัวแทนประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน ได้แก่ นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ (หัวหน้าทีม) นายเดชาธร ดาศรี นายกษิดิศ ศานต์รักษ์ และนายชีวานนท์ ชุลีคร นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจาก โครงการ The 4th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งดำเนินการจัดแข่งขันโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ทีมกาแล็กติก 4 ได้เข้าร่วมการแข่งขัน The 4th Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์นานาชาติ ซึ่งจัดโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (JAXA) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณการเดินทางโดย บริษัท 168 ลักกี้ เทรด จำกัด, บริษัทสตาร์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทสเปซ อินเวนเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทแมพพอยท์เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด
ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมกาแล็กติก 4 จากประเทศไทย คว้ารางวัลอันดับ 3 มาครอง ได้สำเร็จถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่สามของการแข่งขัน รองจากไต้หวันและสิงคโปร์ ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า มีตัวแทนเยาวชนจาก 10 ชาติ เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ ออสเตรเลีย, บังคลาเทศ, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไต้หวัน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหรัฐอเมริกา และไทย
ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมกาแล็กติก 4 จากประเทศไทย คว้ารางวัลอันดับสามมาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับที่สามของการแข่งขัน รองจากไต้หวันและสิงคโปร์ ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ จากความสำเร็จของเยาวชนไทยในครั้งนี้ สวทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนทั้งสี่คนจะได้เรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า สามารถนำมาแบ่งปัน ต่อยอด รวมทั้งถ่ายทอดให้แก่เพื่อน ๆ เยาวชนไทยรุ่นต่อไป
ด้าน นายณัฐวินทร์ แย้มประเสริฐ นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 2 สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมกาแล็กติก 4 กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่า รู้สึกภาคภูมิใจกับสมาชิกในทีมทุกคนที่ได้ร่วมพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นมา จนได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศ และได้นำไปประมวลผลโปรแกรมบนสถานีอวกาศนานาชาติจริง อีกทั้งยังสามารถคว้ารางวัลอันดับที่สามกลับมาได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก เนื่องจากแต่ละทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันในการเก็บคะแนน และแต่ละกลยุทธ์ทำคะแนนได้ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่เห็นได้จากทุกทีม คือ ความตั้งใจทำผลงานให้ออกมามีประสิทธิภาพที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ไม่ว่าผลออกมาจะเป็นอย่างไร เราเชื่อว่าแต่ละทีมไม่ได้รู้สึกเสียดายผลคะแนนจากการแข่งขันที่ได้รับ
นอกจากการแข่งขัน พวกเรายังได้เยี่ยมชมองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นที่เมืองสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น รู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นการทำงานของแผนกภาคพื้นดินที่คอยติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ ได้เห็นกระบวนการคัดเลือกนักบินอวกาศ และได้รับประโยชน์มากมายในด้านองค์ความรู้ที่ใช้ในการปฏิบัติการในอวกาศ
ที่สำคัญตลอดการทำกิจกรรมยังได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ต่างชาติมากมาย ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานซึ่งกันและกัน สุดท้ายต้องขอขอบคุณ สวทช. และ JAXA ที่จัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา รวมทั้งขอขอบคุณบริษัทเอกชนและผู้มีส่วนร่วมอื่น ๆ ที่สนับสนุนการเดินทางเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้พวกเราได้สัมผัสใกล้ชิดกับการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ในอวกาศ และมีโอกาสพูดคุยกับนักบินอวกาศ ดร.โคอิจิ วากาตะ (Koichi Wakata) ที่มีประสบการณ์ภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง
ทีมกาแล็กติก 4 สามารถคว้ารางวัลอันดับสามมาครอง ด้วยคะแนน 94.79 คะแนน ส่วนทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีมฟลายอิง ยูนิคอร์นส์ (Flying Unicorns) จากไต้หวัน คะแนน 110.77 คะแนน และทีมอันดับที่สอง ได้แก่ ทีมเอสเอสทีวัน (SST1) จากสิงคโปร์ 98.54 คะแนน