'ดีอี' โละบอร์ดเอ็นทีเซ่น 5G ไม่คืบ ส่งรายชื่อใหม่ให้สคร.เคาะ 3 พ.ย.นี้

'ดีอี' โละบอร์ดเอ็นทีเซ่น 5G ไม่คืบ ส่งรายชื่อใหม่ให้สคร.เคาะ 3 พ.ย.นี้

แผนธุรกิจมือถือ 5G ยังถูกแช่แข็ง 'ประเสริฐ' ขยับเองปลดบอร์ดเอ็นที 6 เก้าอี้ หลังให้เวลาแสดงสปิริตแต่ไม่ยอมไขก๊อก รีเควสคนใหม่คุณสมบัติเด่น เก่งกฎหมาย มีความชำนาญด้านดิจิทัล เห็นหนทางสร้างรายได้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า ภายในวันศุกร์ที่ 3 พ.ย.2566 จะได้รายชื่อคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ทดแทนบอร์ดที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ จำนวน 6 คน ได้แก่ พล.อ.สุชาติ ผ่องพุฒิ ประธานบอร์ด,นางพิมพ์วิมล วงษ์สุวรรณ,นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา,รองศาสตราจารย์ศศิวิมล มีอำผล,นายมหัทธนะ อัมพรพิสิฎฐ์ และ นายวรรณชัย บุญบำรุง

ขณะที่บอร์ดเดิมเหลืออยู่ 7 คน คือ นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองประธานบอร์ด, น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ,นายธงทิศ ฉายากุล, นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์, นายธิบดี วัฒนกุล , เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร และ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์

 

สำหรับคุณสมบัติของบอร์ดที่จะเข้ามาใหม่ ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย การบริหารองค์กร และความชำนาญด้านเทคโนโลยี ที่สำคัญคือต้องมีนโยบายในการขับเคลื่อนเอ็นทีไปสู่อนาคตรายได้ใหม่ๆ รวมถึงแผนการบริหารคนที่แต่เดิมมีแผนในการลดคนอย่างต่อเนื่อง จาก 13,800 คน เหลือประมาณ 7,000 คนภายในปี 2570 รวมทั้งแผนโทรศัพท์มือถือ 5G ต้องเกิดได้อย่างเป็นรูปธรรมเสียที จากที่ประมูลคลื่นความถี่มาจากกสทช.ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อได้รายชื่อบอร์ดทั้ง 6 คนแล้ว กระบวนการต่อไปต้องเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เห็นชอบ เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ คาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน จากนั้นบอร์ดจะเป็นผู้เลือกประธานบอร์ดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ผ่านมาก็ให้โอกาสบอร์ดได้พิจารณาตัวเองแล้วตามธรรมเนียมแต่ก็ไม่มีใครลาออกจากตำแหน่ง ตนในฐานะกระทรวงกำกับดูแลจึงต้องเข้ามาดำเนินการ
 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงาน เอ็นทีชนะการประมูลคลื่นความถี่ ในย่าน 5G จากสำนักงาน กสทช. ย่าน 700 MHz โดยครั้งนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบให้ดำเนินการมากถึง 61,628 ล้านบาท เพื่อให้ดำเนินการในโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 15 ปี สำหรับกรอบวงเงินดำเนินการ 61,628 ล้านบาท

แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน 30,602 ล้านบาท เช่น ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 20,584 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดหาโครงข่ายร่วมกับพันธมิตร 9,300 ล้านบาท และอุปกรณ์โครงข่าย 718 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 31,026 ล้านบาท แต่ผ่านมาถึงวันนี้ เอ็นทีไม่ได้ดำเนินการใดๆเป็นรูปธรรม

นอกจากการร่วมเป็นพันธมิตรกับ AIS โดยขายความถี่ครึ่งหนึ่งให้กับเอกชนไปดำเนินการ โดยภายใต้สัญญาฯ ดังกล่าว AIS จะจัดทำโครงข่าย 4G/5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 13,500 สถานีฐาน ภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้ เอ็นที ใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 4G/5G แก่ลูกค้าผู้ใช้บริการตลอดอายุใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2579