‘โอเพ่นซอร์ส’ เป็นมากกว่าทางเลือก ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม องค์กรรัฐ
การทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัลของ “หน่วยงานภาครัฐ” เป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่ประเทศไทยจำต้องก้าวข้ามไปให้ได้...
นอกจากงานหลังบ้านที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านอินฟราสตรักเจอร์แล้ว งานด่านหน้าที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะสำหรับประชาชนเป็นอีกหนึ่งความคาดหวังที่หากมีความรวดเร็ว สามารถที่จะ “เอาแต่ใจ” ได้แบบที่ไปใช้บริการภาคเอกชนก็คงจะดีไม่น้อย...
เปรม ปาวัน รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี เร้ดแฮท เปิดมุมมองว่า เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
รายงาน Google e-Conomy SEA ประจำปี 2566 ประเมินว่า สิ้นปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าถึง 295 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม การทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้อยู่ในระดับที่ต่างกันออกไป จากข้อมูล e-Government Development Index ของสหประชาชาติ พบว่า เมื่อพิจารณาด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและความพร้อมในการให้บริการแล้ว ประเทศสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 12 จาก 193 ประเทศ แต่มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซียกลับไม่ได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีนโยบาย Thailand Digital Government Development Plan ที่ล้วนโฟกัสไปที่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านสวัสดิการสาธารณะ และประโยชน์ส่วนรวม
‘โอเพ่นซอร์ส’ เพิ่มความเร็ว
เปรมบอกว่า การพิจารณานำเทคโนโลยีที่มีอยู่หลากหลายมาใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญ และหนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นแรงกระตุ้นและสนับสนุนให้การพัฒนาบริการประชาชนด้านต่างๆ ทำได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นอย่างรวดเร็วคือ “โอเพ่นซอร์ส”
โดยจะช่วยขับเคลื่อนบริการภาครัฐให้สามารถให้บริการประชาชนได้ดีขึ้น ส่งเสริมนวัตกรรมด้านต่างๆ และเพิ่มความปลอดภัยไซเบอร์ให้รัดกุมมากขึ้นได้
“โอเพ่นซอร์สสามารถสนับสนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ขณะเดียวกันช่วยขับเคลื่อนความคุ้มค่าการลงทุน สนับสนุนการทำงานร่วมกัน เพิ่มความโปร่งใส สร้างนวัตกรรม รวมถึงบริการที่รวดเร็วและคล่องตัวสำหรับประชาชน”
ข้อมูลระบุว่า ตัวชี้วัดการเติบโตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภาพรวมยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี ธนาคารพัฒนาเอเชียประมาณการว่าภูมิภาคนี้จะเติบโต 4.7%นอกจากนี้ประชากรในภูมิภาคนี้จำนวนมากยังเข้าสู่ยุค “mobile-first” ด้วยตัวเลขการใช้สมาร์ตโฟนที่สูงสุดในโลก ด้านผู้บริโภคมีความคาดหวังบริการดิจิทัลที่รวดเร็ว คล่องตัว เฉพาะตัว และสะดวกเพียงกดปุ่ม ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องตามให้ทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์นี้
ท้าทายข้อจำกัด ‘งบประมาณ’
วันนี้งบประมาณที่ค่อนข้างจำกัดยังคงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสร้างดิจิทัลโซลูชันที่คุ้มค่าการลงทุน
เพราะซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สส่วนมากเปิดให้ใช้งานได้ในระดับคอมมิวนิตี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเมื่อจะนำซอฟต์แวร์ไปใช้ในระดับองค์กรก็สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการที่เจาะจงกับการใช้งาน
นอกจากนี้ โอเพ่นซอร์สเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้ความรู้ และอัปเดตเรื่องต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการทำงานร่วมกันจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนร่วมทั่วโลก ความคุ้มค่าการลงทุนในลักษณะนี้เป็นประโยชน์มากต่อหน่วยงานที่มีงบประมาณจำกัด และต้องบริหารจัดการงบประมาณนั้นอย่างรอบคอบเหมาะสม
‘ภัยไซเบอร์’ หนีไม่พ้น
เร้ดแฮทเผยว่า การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค มาพร้อมการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยไซเบอร์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากของหน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นผู้รวบรวม และจัดเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูงของประชาชน
เห็นได้จากการประกาศใช้กฎหมายความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในหลายประเทศ เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี โอเพ่นซอร์สมอบฐานรากที่แข็งแกร่งให้กับการปกป้องข้อมูลที่อ่อนไหวง่าย และสนับสนุนเป้าหมายการเสริมสร้างความปลอดภัยไซเบอร์ให้รัดกุม ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถตรวจสอบโค้ดได้อย่างละเอียดว่ามีช่องโหว่ตรงไหนหรือไม่ และทำการแพตช์ช่องโหว่นั้นๆ ได้ทันเวลา
ความยืดหยุ่นของซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส ช่วยให้ผสานรวมฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยประสิทธิภาพล้ำหน้าต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น การยืนยันตัวตนและการเข้ารหัสแบบหลายชั้น เพื่อปกป้องข้อมูลที่อ่อนไหวง่าย
ตอบโจทย์ คล่องตัว ยืดหยุ่น
ที่ผ่านมา รูปแบบการทำงานของโอเพ่นซอร์สเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงาน และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ภาครัฐพัฒนาได้อย่างคล่องตัว
“หลักการสำคัญของรูปแบบการทำงานของโอเพ่นซอร์สคือ การทำงานร่วมกัน ความโปร่งใส และการพัฒนาที่ขับเคลื่อนโดยคอมมูนิตี้”
โอเพ่นซอร์สยังมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ช่วยสร้างระบบสาธารณสุขที่ยืดหยุ่น ติดตามการแพร่กระจายของไวรัส และช่วยให้สามารถทำงานและศึกษาจากระยะไกลได้
กล่าวได้ว่า หน่วยงานภาครัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังอยู่ในช่วงสำคัญของการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล โดยมีเครื่องมือดิจิทัล แอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นปัจจัยที่ช่วยในการเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์