'เอไอเอส' ชูแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน ปลุกไทยเพิ่มโอกาสแข่งขันบนเวทีโลก

'เอไอเอส' ชูแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน ปลุกไทยเพิ่มโอกาสแข่งขันบนเวทีโลก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฟันเฟืองใหญ่ระดับบิ๊กคอร์ปอเรชั่นในไทยต้องมีชื่อของ เอไอเอส กุมขุมทรัพย์คลื่นความถี่มากที่สุดถึง 1460 เมกะเฮิรตซ์ มีการลงทุนด้านโครงพื้นฐานตลอด 30 ปีที่ผ่านมาไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังประกาศงบทุนประจำปีไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

รัฐต้องอุ้มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า เศรษฐกิจแบ่งปัน (อีโคซิสเต็ม อีโคโนมี) ที่เอไอเอสพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นได้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ก็เพื่อให้ไทยหยัดยืนอยู่ได้ในสมรภูมิการแข่งขันบนเวทีโลก

ประชาชนคนไทยเองก็ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้โมบายดาต้าอย่างมหาศาล จากเดิม 5 -10 กิกะไบต์ต่อเดือน เฉลี่ยขึ้นไป 22 กิกะไบต์ต่อเดือน แปลว่าคนไทยไม่เคยปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีเลย แต่เราใช้ในเรื่องความบันเทิงเสียเยอะทำให้การใช้งานให้เกิด productivity เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลยังน้อยอยู่หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น ในเมื่อเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์ที่ดีเยี่ยมแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาคือการพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคู่กันไป ซอฟต์แวร์ในความหมายที่เอไอเอสอธิบายคือ ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนเอาเทคโนโลยีมาช่วยเป็นเครื่องมือในการใช้เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของภาคครอบครัว และจะส่งผลไปเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

“เทคโนโลยีเปรียบได้กับ DNA ในร่างกายมนุษย์ ที่สมบูรณ์ซึ่งก็คือ Device Network Application ซึ่งถ้าครบถ้วนจะช่วยดันอุตสาหกรรมทั้งองคาพยพได้อย่างดี รัฐต้องช่วย อาทิ หากอุตสาหกรรมภาคการผลิตใด หรือบริษัทเอกชนใด ต้องการเปลี่ยนอุปกรณ์เป็น 5G หรือ สร้างเน็ตเวิร์กรับเทคโนโลยีใหม่ ควรมีการพิจารณาลดภาษีเพื่อจูงใจบริษัทเหล่านั้น ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นการช่วยเอกชนตั้งแต่ต้นน้ำ”

สมการพาย3ชิ้นหนุนเศรษฐกิจ

คำว่าอีโคซิสเต็ม อีโคโนมี “สมชัย” พูดว่าเศรษฐกิจแบบร่วมมือกันของทุกฝ่าย ก็เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของการพัฒนาไปด้วยกันอย่างยั่งยืนได้จริงนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนกลยุทธ์อย่างเป็นระบบและลงมือทำจริง จึงจะสร้างต้นแบบของอีโคซิสเต็ม พร้อมส่งต่อ สร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายธุรกิจได้

โดยเอไอเอสมองเป็นแนวคิด พาย 3 ชิ้น ที่มาประกอบกันเป็นอีโคซิสเต็มของเอไอเอสและพร้อมที่จะเชื่อมต่อสู่ทุกภาคส่วนเพื่อเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ซึ่งได้แก่

• Digital Intelligence Infrastructure : พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะ จากโครงข่าย 5G และเน็ตบ้าน พร้อมแพลตฟอร์มเพื่อภาคอุตสาหกรรม ด้วยการลงทุนในปีนี้ที่ 27,000 – 30,000 ล้านบาท

• Cross Industry Collaboration : หนึ่งใน Sector ของภาคธุรกิจที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของประเทศ คือ SME หรือ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการกว่า 3.18 ล้านราย ซึ่งเป็น 1 ในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

• Human Capital & Sustainability : ยกระดับขีดความสามารถของ Digital Talent และคนไทยผ่าน Education Platform รวมถึงส่งเสริมความรู้ทักษะดิจิทัลสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์

พาร์ทเนอร์เพื่อนคนสำคัญในธุรกิจ

สมชัย กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจ 3-5 ปีต่อนี้ บริษัทยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดในด้านการหารายได้มาทดแทนให้ทันกับรายจ่ายที่ทวีความรุนแรงขึ้น เพราะแม้ว่ายอดผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เป็นเหมือน Core Bussiness จะยังสามารถเติบโตได้แต่ก็ไม่มากพอเพราะรายได้ที่ขยายตัวไม่ได้ ดังนั้น เอไอเอส ต้องตั้งรับด้วยการพร้อม collaboration เป็นพันธมิตรและร่วมมือกับธุรกิจในภาคต่างๆ โดยเฉพาะการข้ามอุตสาหกรรม รวมทั้งการหาโอกาสธุรกิจใหม่เพื่อเป็น New S curve ซึ่งยอมรับ “เวอร์ชวลแบงก์” ก็คืออนาคตอีกธุรกิจที่รอหลักเกณฑ์จากแบงก์ชาติ 

สำหรับการควบรวม “ทรูและดีแทค” จนทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเหลือผู้ประกอบการ 2 รายคือ เอไอเอส และ ทรู ซีอีโอ เอไอเอส ยอมรับว่า ในภาคทฤษฎีผู้ประกอบการที่ให้บริการในไทยถือว่าน้อยไป แต่ภาคปฏิบัติเราคือ 2 บริษัท ที่เป็นคู่แข่งกันอย่างหนักหน่วง และไม่ค่อยรักดันเท่าไร 

ดังนั้น แม้มี 2 ราย แต่ก็แข่งขันกันเยอะมาก ในอดีตต้องยอมรับผู้ประกอบการแข่งขันเรื่องราคาอย่างไร้สาระมานาน แต่ตอนนี้เข้าสู่ยุคการปรับโครงสร้างราคาแล้ว หรือ Price Re-structuring เอไอเอสต้องดึงเอาความเลิศของเราในทุกมิติออกมาให้ได้