กสทช.ฟันธงควบรวม AIS-3BB ไม่กระทบผู้บริโภค จ่อออกมาตรการเข้ม
กสทช.ฟันธงควบรวม AIS-3BB ผลกระทบไม่รุนแรงต่อผู้บริโภค ออกมาตรการเข้ม- มุ่งให้ส่งผลบวก พร้อมกำหนดมาตรการคุมให้แพ็คเกจเน็ตบ้านราคาถูกสุดอยู่ต่อไปอีก 5 ปี โดยจะดึงองค์กรผู้บริโภคร่วม merger monitor ตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการ
บอร์ด กสทช. พุ่งเป้ากระจายโครงข่ายและมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับสู่ประชาชน จากเม็ดเงินถึง 1.5 พันล้านบาท ที่จะประหยัดได้หลังอนุมัติรวมธุรกิจ AWN-3BB แบบมีเงื่อนไข พร้อมกำหนดมาตรการคุมให้แพ็คเกจเน็ตบ้านราคาถูกสุดอยู่ต่อไปอีก 5 ปี โดยจะดึงองค์กรผู้บริโภคร่วม merger monitor ตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการ
หลังจากใช้เวลาประชุมรวมกว่า 6 ชั่วโมง ในวาระเพื่อพิจารณาการรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB) บอร์ด กสทช. มีมติเสียงข้างมาก 4 เสียง ได้แก่ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม อนุญาตให้ AWN บริษัทในเครือ AIS และ TTTBB ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตภายใต้แบรนด์ 3BB รวมธุรกิจแบบมีเงื่อนไข
โดยมีกรรมการ กสทช. 2 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด กสทช. และ พลตำรวจเอก ดร. ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ลงมติ “รับทราบ” การรวมธุรกิจ ขณะที่ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน งดออกเสียง
ยันไม่กระทบผู้บริโภค
ทั้งนี้ กรรมการเสียงข้างมากพิจารณาว่า แม้การรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) และราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ แต่ขอบเขตและระดับของผลกระทบไม่รุนแรง เพราะมีบริการทดแทนกันได้สูงจากบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่
จากการสำรวจข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคบริการโทรคมนาคมของผู้ใช้บริการทั่วประเทศโดยสำนักงาน กสทช. จำนวน 6,486 ตัวอย่าง พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 3 รายเท่านั้นที่ใช้บริการ Fixed Broadband เพียงอย่างเดียว ส่วนผู้ใช้บริการ Mobile Broadband เพียงอย่างเดียวมีจำนวน 642 ราย (ร้อยละ 10) และผู้ใช้บริการทั้ง Fixed Broadband และ Mobile Broadband มีจำนวน 5,730 ราย (ร้อยละ 90) ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่จึงมีน้อย เพราะสามารถแทนที่ด้วยบริการ Mobile Broadband ได้
นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่ห่างไกลก็ยังมีเน็ตประชารัฐ และ USO Net (ศูนย์ที่ กสทช. จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม: Universal Service Obligation) เกือบ 50,000 จุดทั่วประเทศ
ในแง่ของการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) นั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 13 ล้านราย ภายหลังการรวมธุรกิจจะมีจำนวนผู้ประกอบการลดลงจาก 4 รายใหญ่เหลือ 3 รายใหญ่ ซึ่งตลาดยังมี NT เป็นผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 16 และมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะร่วมมือกับอีกสองรายใหญ่ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงยังสร้างความกดดันในการแข่งขันได้
ในขณะเดียวกัน ทาง กสทช. ยังพบว่ามีข้อมูลที่สอดคล้องกันของรายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของสำนักงาน กสทช. การศึกษาของที่ปรึกษาในประเทศ (สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ (SCF Associates Ltd.) ที่เห็นตรงกันว่าการรวมธุรกิจครั้งนี้จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นต่อตลาด
จากรายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศ ภายหลังการรวมธุรกิจ ผู้รวมธุรกิจไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน นำไปสู่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น (Efficiency Gain) มูลค่าสูงสุดได้ถึง 10,000-15,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี
กำหนดเงื่อนไข มาตรการเฉพาะ
ทาง กสทช. จึงกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนในโครงข่าย Fixed Broadband Access ในพื้นที่ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำหรือพื้นที่ห่างไกล อันจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สุทธิ (Net Benefit) ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 88,690 ล้านบาทในช่วง 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 0.18 – 0.49 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาปัจจุบัน (Nominal GDP)
การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในการนำเงินไปลงทุนดังกล่าวข้างต้น จะทำให้โครงข่าย Fixed Broadband Access ขยายครอบคลุมมากขึ้นในพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำที่ยังไม่มีโครงข่ายในปัจจุบัน
สำหรับในเรื่องของการควบคุมราคานั้น ได้มีการกำหนดมาตรการเฉพาะกำหนดห้ามขึ้นราคาหรือลดคุณภาพบริการ และให้คงแพ็คเกจราคาต่ำสุดสำหรับอินเทอร์เน็ตประจำที่เป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ กำหนดให้มีอนุกรรมการทำหน้าที่เป็น merger monitor เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการขึ้นราคาจากผู้รวมธุรกิจเป็นเวลา 5 ปี โดยมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพ โทรคมนาคม
การจัดตั้งคณะอนุกรรมการ merger monitor ดังกล่าว มุ่งเน้นให้ติดตามตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะที่กำหนด โดยเป็นการถอดบทเรียนจากการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่บอร์ด กสทช. เคยพิจารณา ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม ในครั้งนี้จึงได้ออกแบบให้อนุกรรมการมีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย