'โอทีที' ไม่แตกแถว! ยักษ์ไอทีต่างชาติดอดจดทะเบียนแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทย
Facebook Line Grab Google Tiktok Shopee Grab Google Lazada ตบเท้าจดทะเบียนแพลตฟอร์มตามกฎหมาย DPS แล้ว 835 แพลตฟอร์ม
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เผยหลังพ้นกำหนดการแจ้งการประกอบธุรกิจ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่งแล้ว มีแพลตฟอร์มดิจิทัลแจ้งข้อมูล ทั้งสิ้น 835 แพลตฟอร์ม “จาก 15 ประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ทั้งไทย-ต่างชาติ ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ สำหรับแพลตฟอร์ม ที่ยังไม่ได้แจ้งตามกำหนด ETDA เตรียมส่งหนังสือ เพื่อให้แพลตฟอร์มชี้แจงเหตุผล ก่อนดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า หลังจากที่พันกำหนดระยะเวลาการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไปตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่ได้มีการประกอบธุรกิจก่อนวันที่ 21 สิงหาคม 2566 แล้วนั้น ทาง ETDA ได้รับความร่วมมือจากแพลตฟอร์มทั้งของไทยและต่างชาติ ที่ครอบคลุมทั้ง 15 ประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดำเนินการเข้ามาแจ้งข้อมูลแล้ว ทั้งสิ้น 835 แพลตฟอร์ม
“ETDA ในฐานะ Regulator ได้มีการสื่อสารไปยังแพลตฟอร์มที่เข้าข่ายตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ต้องขอขอบคุณทุกแพลตฟอร์ม ที่ให้ความร่วมมือในการเข้ามาแจ้งข้อมูล ภายใต้กฎหมาย DPS (พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565) ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่าง ETDA และ แพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดแนวทาง มาตรการในการดูแล ช่วยเหลือ แก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้งานจากผู้ใช้บริการ”
สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ ETDA จะแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. การตรวจสอบรายชื่อแพลตฟอร์มทั่วไป ที่เข้าข่ายลักษณะตามกฎหมาย DPS มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่ยังไม่ได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด โดยทาง ETDA จะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งให้แพลตฟอร์มดิจิทัล เร่งดำเนินการชี้แจงเหตุผลของการไม่ดำเนินการแจ้งข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนด ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายในลำดับถัดไป
2.วิเคราะห์ข้อมูลจากแพลตฟอร์มเพิ่มเติม เพื่อจัดกลุ่มธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลว่า แพลตฟอร์มใดบ้างที่เข้าข่ายแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดใหญ่ ตามมาตรา 18 (1) ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือ รวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือ จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 19 รวมถึงเพื่อพิจารณาดูว่า แพลตฟอร์มที่แจ้งข้อมูลใดบ้างที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตามความเสี่ยง ตามมาตรา 18 (2) และมีผลกระทบในระดับสูง ตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมตามมาตรา 20 ก่อนประกาศรายชื่อต่อไป
3. เตรียมให้เครื่องหมาย Trust Mark สำหรับแพลตฟอร์มที่ได้มีการแจ้งข้อมูลมายัง ETDA แล้ว เพื่อสร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการเริ่มให้บริการหลังวันที่ 21 สิงหาคม 2566 จะต้องแจ้งการประกอบธุรกิจต่อ ETDA ก่อนเริ่มการประกอบธุรกิจ มิเช่นนั้น จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
ในโอกาสนี้ ทาง ETDA ต้องขอขอบคุณทุกแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้ให้ความร่วมมือแจ้งข้อมูลมายัง ETDA ทั้ง 835 แพลตฟอร์ม ซึ่งประเภทแพลตฟอร์ม 5 ประเภทที่มีการเข้ามาแจ้งมากที่สุด คือ 1.บริการตลาดออนไลน์ (online marketplace) 2.บริการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) 3.บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) 4.บริการ Sharing Economy Platform และ 5.บริการคลาวด์ (Cloud service)
โดยประชาชนสามารถ เช็ครายชื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แจ้งข้อมูลกับ ETDA แล้ว ได้ที่ https://eservice.etda.or.th/dps/th/opendata/section14
ETDA เชื่อมั่นว่า หลังจากนี้จะมีรายชื่อธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ทยอยเข้ามาแจ้งกับทาง ETDA อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มแรกที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 18 พ.ย. 2566 คือ กลุ่มธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ทั้งของไทยและต่างประเทศที่จะหมายถึงธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีคุณสมบัติดังนี้
1. กรณีบุคคลธรรมดา มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทย เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2. กรณีนิติบุคคล ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทย เกิน 50 ล้านบาทต่อปี หรือ 3. มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยเกิน 5,000 คนต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศ) ส่วนธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่ ที่กำลังจะเริ่มให้บริการ จะต้องเข้ามาแจ้งข้อมูลก่อนให้บริการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า พบว่าแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้ง Facebook Line Grab Google Tiktok Shopee Grab Google Lazada มาจดแจ้งแล้วครบถ้วน