‘ฟูจิตสึ’ เปิดสูตรรับมือ ความท้าทายใหม่ ‘ความยั่งยืน’
รายงาน “Our Common Future” โดยสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2530 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ความยั่งยืน ได้อย่างชัดเจนว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นต่อไปต้องลดลง"
จากรายงาน “Fujitsu Future Insights Global Sustainability Transformation Survey Report 2023” ซึ่งได้ศึกษาแนวโน้มสำคัญในโลกและความเป็นจริงเกี่ยวกับ “การปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน” หรือ “Sustainability Transformation (SX)” ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงและผู้มีอำนาจตัดสินใจรวม 1,800 คน ใน 9 ประเทศทั่วโลก พบว่า ความยั่งยืน เป็นหนึ่งใน 3 ประเด็นหลักของการบริหาร นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) และความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Experience)
กนกกมล เลาหบูรณะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดมุมมองว่า การปรับเปลี่ยนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน (SX) มีความสำคัญกับธุรกิจหลายประการ
โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นับเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบและจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
สูตรแห่งความสำเร็จเดียวในการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน คือ "การเปลี่ยนแปลงด้านบุคลากร“ + ”การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัล" = การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน" หรือ “PX + DX = SX” โดยการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนสามารถผลักดันได้ด้วยเทคโนโลยี
รัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายแก้ไขด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net zero ในปี 2608 ดังนั้นหลายอุตสาหกรรมจะต้องปรับทิศทางธุรกิจให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าวของภาครัฐ
ขณะเดียวกัน ภาวะการแข่งขันทางธุรกิจนับเป็นความกดดันอีกหนึ่งประการของทุกองค์กรในการรักษาฐานลูกค้าสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ประหยัดต้นทุน รวมถึงปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงมากกว่านั้นการค้าขายระดับโลกและมาตรฐานESGต่างๆเป็นอีกแรงกดดันที่ทำให้แต่ละธุรกิจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน
ปัจจุบัน ความยั่งยืนมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับการบริหารในเชิงกลยุทธ์ โดยพบว่า 70% ของผู้ตอบคำถาม ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับ Digitization หรือ การนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ขณะที่ 68% ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความยั่งยืนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าเหตุผลหลัก ที่ทำให้ความยั่งยืนมีความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ 50% เพื่อมอบความพึงพอใจต่อลูกค้า 40% เพื่อตอบรับกับกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติของรัฐ 38% เพื่อตอบรับต่อความคาดหวังจากนักลงทุนในการลงทุนด้าน ESG 36%
เพื่อเพิ่มค่าของผลิตภัณฑ์ บริการ และแบรนด์ 30% เพื่อความพึงพอใจในค่านิยมของคนรุ่นใหม่ 30% เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับคัดเลือกเป็นพาร์ตเนอร์ในระบบนิเวศ 27% เพื่อการสร้างโอกาสใหม่ๆ เชิงธุรกิจ และ 25% เพื่อการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ
“ความยั่งยืนกำลังเป็นประเด็นที่ท้าทายของทุกองค์กรทั่วโลก การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความโปร่งใสในธุรกิจ จึงมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค”