‘กูเกิล’ เดินแผนหนุนไทยปลดล็อก ‘เศรษฐกิจเอไอ’ 2.6 ล้านล้านบาท

‘กูเกิล’ เดินแผนหนุนไทยปลดล็อก ‘เศรษฐกิจเอไอ’ 2.6 ล้านล้านบาท

“กูเกิล” ย้ำพันธกิจหนุนดิจิทัลไทย เดินหน้าความร่วมมือรัฐบาล ปักธง 4 เสาหลัก มุ่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัล วางรากฐาน “Cloud-First Policy” ส่งเสริมการใช้เอไออย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัย พร้อมผลักดันให้คนไทยเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโลกเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างเร็ว ทว่าหากพูดถึงผลิตภัณฑ์และบริการบนโลกออนไลน์แล้ว ต้องยอมรับว่าเทคคอมพานีผู้ทรงอิทธิพลสำหรับภาคธุรกิจรวมถึงผู้บริโภคชาวไทยยังคงมีชื่อของยักษ์อินเทอร์เน็ต “กูเกิล” ติดโผเป็นอันดับต้นๆ ไม่เคยเปลี่ยน...

แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ กูเกิล ประเทศไทย เปิดมุมมองว่า กว่าทศวรรษที่กูเกิลเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ได้เห็นถึงการเติบโตที่ก้าวกระโดดในหลายมิติ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง

การที่ธุรกิจต่างๆ ในไทยนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ทํางานด้วยระบบเอไอของกูเกิลไปใช้ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาทในปี 2565

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ร้บผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 7.4 หมื่นล้านบาท และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 250,000 ตำแหน่ง

เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงพลังของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยกูเกิลภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในระยะยาว

ปักธง '4 เสาหลัก' ดันไทยเติบโต

สำหรับกูเกิล จากนี้ยังคงมุ่งส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย ภายใต้พันธกิจ “Leave No Thai Behind” ที่มุ่งนำเทคโนโลยีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย ขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และคนไทยให้เติบโตไปอีกขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหวัง

ขณะเดียวกัน ขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ตามที่ รัฐบาลไทยและกูเกิลได้ประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลและเร่งให้เกิดนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์

โดยทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อวางรากฐาน 4 เสาหลักที่จำเป็นต่อการส่งเสริมประเทศไทยให้เติบโตใน “เศรษฐกิจ AI” ซึ่งได้แก่ การต่อยอดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล, การส่งเสริมการใช้เอไออย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัยเพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ, การวางหลักเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy), และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น

ประเมินขณะนี้ นับว่ากลุ่มธุรกิจธนาคาร โทรคมนาคม และค้าปลีกมีความพร้อมอย่างมาก แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือการขยายไปสู่วงกว้างและพัฒนาทักษะบุคลากร ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม และเรื่องนี้จะมีส่วนสำคัญและเป็นตัวชี้วัดว่าไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้รวดเร็วมากน้อยแค่ไหน

ผลวิจัยโดย “กูเกิล” พบว่า หากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรมเอไอมาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมนั้นยังขาดความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการด้านเอไอที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถของเทคโนโลยี “Cloud AI” ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับองค์กรโดยเฉพาะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

หนุนรัฐบาลไทยสู่ ‘Cloud First’

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดหลังจากที่มีการเอ็มโอยู กูเกิลได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย “Go Cloud First” เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนสำหรับองค์กรต่างๆ ในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านคลาวด์และเอไออย่างถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ

ล่าสุด ยังได้ประกาศความร่วมมือด้าน Generative AI กับ 3 หน่วยงานคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงคมนาคม, และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (Big Data Institute: BDI) โดยบุคลากรจากทั้ง 3 องค์กรนี้จะได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรของ Google Cloud เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างโดยใช้เทคโนโลยี Generative AI

รวมไปถึงการใช้ Vertex AI เพื่อจัดทำโซลูชันของตัวเอง และด้วยแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud องค์กรต่างๆ สามารถเลือกโมเดล AI พื้นฐานทั้งของ Google และแบบโอเพนซอร์สกว่า 100 โมเดล เพื่อนำไปปรับใช้ในการสร้างโมเดลแบบกำหนดเองโดยใช้เครื่องมือและข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่ และผนวกรวมโมเดลแบบกำหนดเองเหล่านี้เข้ากับบริการดิจิทัลขององค์กรเพื่อให้บริการแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กูเกิลต้องการช่วยให้คนไทยมีส่วนร่วมในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศมากยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพเพิ่มเติมจำนวน12,000ทุนภายใต้โครงการ Samart Skills

เชื่อว่าการเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนและธุรกิจด้วยทักษะดิจิทัลควบคู่ไปกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยจะทำให้สามารถสร้างอนาคตที่สดใสสำหรับทุกคน 

ขณะที่ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและพาร์ทเนอร์ของกูเกิลจะยิ่งทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้มากขึ้น และจะได้สานต่อความร่วมมือลักษณะนี้ต่อไปเพื่อช่วยปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น