ผ่าแผน ‘สตรีมมิ่งแห่งชาติ’ กสทช.จ่อรวม โอทีที ทีวีดิจิทัล ขึ้นอินเทอร์เน็ต
ผ่าแผน ‘สตรีมมิ่งแห่งชาติ’ กสทช.จ่อรวม 'โอทีที ทีวีดิจิทัล' อยู่บนเน็ตทั้งหมด รับไลเซ่นทีวีดิจิทัลหมดปี 72 ดึง 'เอไอ' คุมเนื้อหา หวังเม็ดเงินโฆษณาหมุนเวียนในประเทศ
จับตาการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม 'ทีวีดิจิทัล' หลังไลเซ่นหมดอายุ ปี 2572 'กสทช.' ฉายภาพฉากทัศน์ใหม่ช่วงเปลี่ยนผ่าน คาดเหลือช่องทีวีรอดไม่เกิน 5 สถานี ปิดจุดเสี่ยง “จำนวนคลื่นทีวีดิจิทัล' น้อยลงจากเทรนด์โลกหลัง ‘ไอทียู’ ให้โอนคลื่นความถี่ทีวีไปให้บริการโทรคมนาคม เร่งถกผู้ผลิต สมาคมโฆษณา ผุดไอเดีย “แพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ” บูรณาการช่องให้อยู่ระบบเดียวกัน ดึง “เอไอ” มอนิเตอร์เนื้อหาหวังเม็ดเงินโฆษณาหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ
นับถอยหลังใบอนุญาติ ‘ทีวีดิจิทัล’ ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2572 ท่ามกลางความร้อนแรงของแพลตฟอร์มโอทีที (Over the top) หรือการให้บริการเนื้อหา ภาพยนต์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ที่กำลังกลายเป็นช่องทางหลักการเสพเนื้อหาคอนเทนต์ด้านต่างๆ พฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยที่เปลี่ยนไป กระทบต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (ออนไลน์ ไมเกรชั่น) สู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572 ภายใต้โครงการศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพกระจายเสียงฯ หลังสิ้นสุดใบอนุญาต ในปี 2572 เพื่อประกอบการวางแนวทางและนโยบายรองรับกิจการโทรทัศน์ในอนาคตนั้น กำลังอยู่ระหว่าง "กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง"
โดยขณะนี้ กสทช. ได้ริเริ่มและเป็นตัวกลาง ในการเปิดเวทีหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของต้นแบบ "แพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ" ที่จะบูรณาการเนื้อหาจาก "ช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โฆษณา และ ข้อมูลผู้บริโภค" ให้อยู่ในระบบเดียวกัน และบริหารจัดการบริการเสริมที่วิ่งบนโครงข่าย (Over the top : โอทีที) ที่ถือเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเป็นช่องทางในการเผยแพร่เนื้อหาสำคัญและกำลังได้รับความนิยม
ดึงเม็ดเงินจากโฆษณาเข้าอุตฯ
นางสาวพิรงรอง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช.จัดเวทีหารือร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สมาคมโฆษณา ผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคม และผู้ผลิตสมาร์ททีวี ทั้งได้เสนอให้มีโครงการต้นแบบศึกษาความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนาบริการพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ ยูโซ่
ทั้งนี้ มองว่า อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ยังจะมีความเสี่ยงเรื่อง "จำนวนคลื่นความถี่" ที่อาจไม่เพียงพอ ทั้งจากเทรนด์โลกซึ่งกำหนดโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ให้มีการโอนคลื่นความถี่ที่ใช้งานโทรทัศน์ส่วนหนึ่ง ไปให้บริการโทรคมนาคม ทำให้คลื่นความถี่ที่ใช้งานในระบบทีวีดิจิทัลปัจจุบันหายไปกว่า 35%
นอกจากนี้ การมาถึงของเทคโนโลยี 4K ซึ่งเป็นระบบภาพคมชัดยิ่งกว่า จะเพิ่มปริมาณการใช้งานคลื่นในการแพร่ภาพมากยิ่งขึ้น มีการประเมินกันว่าคลื่นความถี่สำหรับบริการโทรทัศน์ประเทศไทยซึ่งใช้งานปัจจุบันระหว่างคลื่นความถี่ 470 -690 เมกะเฮิรตซ์นั้น น่าจะเพียงพอสำหรับการใช้งานของสถานีทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศด้วยเทคโนโลยี 4K เพียง 3-5 ช่องเท่านั้น จากปัจจุบันที่มีจำนวนทีวีดิจิทัลทั้งสิ้น 25 ช่อง ซึ่งอนาคตแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆ เช่น วีดีโอ ออน ดีมานด์ และ วีดีโอ แชร์ริง เซอร์วิส จะขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“แพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ จะเป็นตัวกลางรวบรวม ทั้งคอนเทนต์โฆษณา และข้อมูลผู้บริโภค ช่วยให้การไหลเวียนของเงินโฆษณาอยู่ในประเทศ แทนที่จะออกไปที่โกลบอล เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้แพลตฟอร์มต่างชาติได้ค่าโฆษณาไปหมด และแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติดังกล่าว จะรองรับการออกอากาศสดแบบเรียลไทม์ พร้อมกับการออกอากาศผ่านระบบดิจิทัลเท่านั้น ขณะนี้ พบว่า แต่ละช่องทีวีดิจิทัลเลือกใช้แพลตฟอร์มกระจัดกระจายและไม่มีการรวมศูนย์ ยากแก่การวัดเรตติ้งซึ่งนำไปสู่การซื้อโฆษณา"
จับตาสหราชอาณาจักรนำร่อง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติในต่างประเทศ ได้เริ่มใช้แล้วที่สหราชอาณาจักร โดยสถานีโทรทัศน์บริการสาธารณะรายใหญ่ในอังกฤษจำนวน 4 ช่อง ได้แก่ BBC, itv, ช่อง 4 และช่อง 5 ที่ มียอดผู้ชมประมาณ 40% ของทั้งประเทศ ได้ร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เรียกว่า “Freely” มีกำหนดเปิดตัวในปี 2567
โดยจะมีการติดตั้งแพลตฟอร์มนี้ไว้ในสมาร์ททีวีรุ่นต่อไป ไม่ต้องใช้ set-top box ซึ่งคาดว่า จะมีคอนเทนต์ช่องฟรีทีวี 50% และช่องวีดีโอ ออน ดีมานด์ 50% เนื่องจากผู้ชมดูคอนเทนต์ออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่ยังคงต้องการเข้าถึงประสบการณ์ถ่ายทอดสดทางทีวีอยู่ ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการออกอากาศไปอยู่ในรูปแบบบริการสตรีมมิงผ่านอินเทอร์เน็ตเพราะมีครัวเรือนประมาณ 4 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็น 15% ที่ไม่มีเสาอากาศ สายอากาศ หรือจานดาวเทียมเพื่อดูทีวี แต่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูคอนเทนต์ต่างๆ
ออกอากาศในแบบไฮบริด
นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบ DVB-I นำร่องทดลองใช้ในเยอรมัน และหากสำเร็จจะมีความเป็นไปได้ ที่จะนำมาใช้ในสหภาพยุโรป ระบบ DVB-I เป็นการรวบรวมช่องรายการที่ออกอากาศผ่านโครงข่ายในรูปแบบต่างๆ มาลิสต์รวมไว้ในที่เดียวกัน เช่น ผ่านการออกอากาศภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial Television: DTT), ผ่านดาวเทียม,ผ่านสายอากาศ และผ่านทางอินเทอร์เน็ต (HTML)
โดยผู้ชมจะได้ประสบการณ์การรับชมเหมือนเช่นเดิม กรณีที่สายอากาศเสีย ก็สามารถรับชมผ่านอินเทอร์เน็ตได้แต่การใช้สายอากาศก็ยังคงมีความจำเป็น เพราะบางรายการยังออกอากาศผ่านระบบภาคพื้นดินเท่านั้น ทำให้ต้องเสียบสายอากาศค้างไว้ตลอดเวลาเพื่อรับสัญญาณโทรทัศน์
ทั้งนี้ ข้อดีของระบบ DVB-I คือ 1. สามารถลิสต์ลำดับรายการสำคัญ 2. รับชมรายการของแต่ละภูมิภาค โดยการส่งสัญญาณภาคพื้นดินจากส่วนภูมิภาค/ท้องถิ่นนั้นๆ 3. รับชมรายการเฉพาะกิจ (Part-time Service) เพราะไม่ต้องพึ่งพาช่องรายการประจำ แต่สามารถเพิ่มช่องใหม่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ และ 4. มี Dynamic Playlists คือ สามารถเพิ่มลดจำนวนลิสต์ช่องรายการได้ เนื่องจากคลื่นความถี่เพื่อใช้ออกอากาศภาคพื้นดินมีอยู่อย่างจำกัด
ดังนั้น การใช้ระบบไฮบริดโดยใช้การออกอากาศรายการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตควบคู่ไปด้วย ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาคลื่นความถี่เพียงอย่างเดียว และเมื่อมีรายการถ่ายทอดสด เช่น การถ่ายทอดกีฬาระดับโลกเพียงบางวัน ก็สามารถกำหนดให้มีช่องรายการนั้นขึ้นมาเฉพาะกิจก็ได้ เมื่อการแข่งขันจบลง ก็สามารถลบช่องรายการนั้นออกไปได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีลิสต์ช่องรายการจำนวนมากที่สร้างความสับสนในการใช้งานให้กับผู้ชม
ดัน‘เอไอ’มอนิเตอร์เนื้อหา
ขณะเดียวกัน ส่วนการกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพนั้น กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ยังมีโครงการส่งเสริมการกำกับเนื้อหาโดยใช้เอไอ และการมอนิเตอร์เนื้อหาผ่านระบบการสะสมโซเชียลเครดิต (social credit) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำเนื้อหาที่ดี หรือไม่มีการละเมิดกฎหมายหรือเงื่อนไขใบอนุญาต และเป็นประโยชน์กับสังคมให้สามารถสะสมคะแนนได้อย่างเป็นระบบ และในแต่ละปีจะมีการประเมินเพื่อให้รางวัลซึ่งอาจเป็นการลดค่าธรรมเนียมหรือรางวัลในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการผลิตเนื้อหาที่ดี ไม่ใช่เน้นแค่ยอดผู้ชม
นางสาวพิรงรอง ยังกล่าวถึงแนวทางการกำกับดูแลแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์หรือ โอทีที ว่า ภายใต้ พ.ร.ฎ.ควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 21 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา กสทช.มีขอบเขตอำนาจในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ โดยมีแนวทางกำกับดูแลครอบคลุมการปกป้องเด็กและผู้บริโภค, ปิดกั้นภาพโป๊ เปลือย อนาจาร, อาหารและยาที่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) และคุ้มครองข้อมูลของผู้บริโภคภายใต้หลักการของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือ พีดีพีเอ
เร่งปรับปรุงประกาศฯให้ทัน
ขณะที่ ในปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย และการส่งเสริมสนับสนุนกิจการโทรทัศน์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีหลายโครงการที่ต้องหยุดชะงัก เพราะรอการบรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.
โดยกสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ยกตัวอย่างโครงการและการดำเนินงานในกลุ่มนี้ ได้แก่ 1. สำหรับแนวทางการกำกับดูแลเพื่อรองรับการหลอมรวมในมิติต่างๆ การพิจารณานำบริการเสริมบนโครงข่ายโอทีที ที่ให้บริการแพร่ภาพและกระจายเสียงเข้าสู่ระบบการกำกับดูแล ได้มีการจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งจะระบุหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลโอทีทีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็นขั้นตอนต่อไปคือการนำร่างประกาศนี้ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ภายหลังจากที่เสนอเพื่อบรรจุวาระเข้าที่ประชุม กสทช. ต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) แล้วในทุกขั้นตอน ซึ่งขั้นต่อไปคือการนำร่างประกาศฯ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ในระหว่างนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ตจึงต้องไปแจ้งข้อมูลกับ เอ็ตด้าไปก่อน
2. ในด้านการสนับสนุนการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพและป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งมีแนวทางการสนับสนุนรายการสำหรับเด็กและเยาวชน รายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม รายการเกี่ยวกับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับต่างประเทศนั้น ได้จัดทำและเสนอ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประกาศฯ ตามมาตรา 52) ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว เข้าบรรจุวาระที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 แต่ต่อมาประธาน กสทช. มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 30 ต.ค. 2566 ให้สำนักงานหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนฯ ในการสนับสนุนตามร่างประกาศฯ ก่อนเสนอบรรจุวาระการประชุมต่อไป
3. ในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2566 ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 แล้ว แต่ประธาน กสทช. ยังไม่บรรจุวาระ โดยสั่งการให้สำนักงานหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนฯ ในการสนับสนุนตามร่างประกาศฯ ก่อนเสนอบรรจุวาระการประชุมต่อไป
4. มีการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ โดยมุ่งหมายให้มีการส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม ทั้งในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้สามารถเป็นสื่อกลางในการสร้างการมีส่วนร่วมและเกิดความเข้มแข็งในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ร่างประกาศดังกล่าวก็อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระเข้าที่ประชุม กสทช. เช่นกัน