กสทช.รอจ้างที่ปรึกษาเช็คลิสต์ ‘ทรูควบดีแทค’ ชี้ข้อมูลไม่ครบสอบยาก
บอร์ดกสทช.ยังไร้ข้อสรุปในการตรวจสอบเงื่อนไขควบรวมทรู-ดีแทค แจงข้อมูลที่ส่งมาไม่สามารถตรวจสอบได้ รอที่ปรึกษาส่งความเห็น พร้อมเตรียมนำ (ร่าง) ประกาศยืนยันตัวตนถือครองซิมเกิน 5 เลขหมาย ยื่นครม.เพื่อประกาศใช้เร็วที่สุด
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดกสทช. วานนี้ (20 ธ.ค.) ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลที่คณะอนุฯ ติดตาม และประเมินผลการรวมธุรกิจ ได้รับแจ้งจากบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทคในเรื่องของค่าบริการ เพียงแต่ยังไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ จึงได้มีการแจ้งให้ทางสำนักงาน กสทช. ขอข้อมูลเพื่อส่งเข้ามาพิจารณาเพิ่มเติม
“ข้อมูลยังไม่ได้ยืนยันว่าตัวเลขเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ ทั้งราคาที่มีกล่าวอ้างว่าปรับราคาแพงขึ้น หรือคุณภาพสัญญาณต่ำลง ทางสำนักงาน กสทช. มีกระบวนการที่ต้องตรวจสอบ และต้องมีคณะที่ปรึกษามายืนยันว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง ทำให้ตอนนี้ยังไร้ข้อสรุปในเรื่องของการทำตามมาตรการควบรวมในเรื่องของการลดราคา จึงทำได้เพียงรับทราบข้อมูลดังกล่าว”
โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้แจ้งให้ทรู นำส่งข้อมูลแพ็กเกจที่สามารถตรวจสอบได้มาเพิ่มเติมภายในสัปดาห์หน้าหรือ (28 ธ.ค.) หลังจากนั้นถึงจะนำข้อมูลเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง โดยต้องเทียบราคาก่อนและหลังที่ทรูควบรวมดีแทค
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า บอร์ดกสทช. ยังได้เตรียมนำ (ร่าง) ประกาศเรื่องการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยื่นหนังสือต่อคณะรัฐมนตรี ใน 2-3 วันข้างหน้า เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไป
สำหรับเงื่อนไขของประกาศการยืนยันตัวตนด้วยวิธีการพิสูจน์ตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า (Biometrics) จะกำหนดให้ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ระหว่าง 6 - 100 เลขหมาย มาลงทะเบียนภายใน 180 วัน กรณีที่ถือครองเกิน 101 เลขหมายขึ้นไป จะต้องมายืนยันภายใน 30 วัน
“หลังบอร์ดลงมติเห็นชอบแล้ว ทาง สำนักงาน กสทช. จะทำเรื่องเสนอไปยัง คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่อนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันถัดไปหลังประกาศแล้ว ถือเป็นเรื่องที่บอร์ด ต้องพิจารณาเร่งด่วน ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการแก้ปัญหาแก็งคอลเซ็นเตอร์”
นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการติดตามมาตรการเงื่อนไขหลังทรูควบรวมดีแทคนั้น เนื่องจากข้อมูลที่ส่งมายังไม่ครบถ้วนและสามารถตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด จึงได้บริษัทส่งเอกสารที่ดำเนินการในเงื่อนไขต่างๆ มาให้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า รวมทั้งต้องรอการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อมายืนยันข้อมูลต่างๆ จึงได้เพียงแค่รับทราบ จากนั้นจึงเพื่อนำข้อมูลกลับมาเสนอให้บอร์ดพิจารณาในการประชุมบอร์ดครั้งต่อๆไป