‘ซิสโก้’ ฟันธง ‘เอไอ’ ตัวขับเคลื่อนหลัก ‘เศรษฐกิจโลก’ ทศวรรษหน้า

‘ซิสโก้’ ฟันธง ‘เอไอ’ ตัวขับเคลื่อนหลัก ‘เศรษฐกิจโลก’ ทศวรรษหน้า

เศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังมีความหวังว่า จะฟื้นตัวจากแรงขับเคลื่อนของภาคท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังจะเป็นปีที่ ‘เอไอ’ และเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเปิดประตูให้กับธุรกิจไทยได้เติบโต

‘วีระ อารีรัตนศักดิ์’ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย และเมียนมาร์ เปิดมุมมองว่า ทศวรรษที่ผ่านมา มีการใช้งาน เอไอ อย่างหลากหลายและเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม Generative AI ได้ทำให้ เอไอ รุ่นใหม่เป็นที่น่าจับตามอง ซิสโก้ ได้สรุปเทรนด์ธุรกิจและเทคโนโลยีสำคัญที่จะเปิดบทใหม่ให้กับธุรกิจไทย ควบคู่ไปกับแนวทางการนำเทรนด์มาใช้

เทรนด์แรก คือ เอไอ จะกลายเป็นเทคโนโลยี “ที่ต้องมี” แต่หลายองค์กรยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซิสโก้ ประเมินว่า อุตสาหกรรมเอไอ คาดว่าจะเติบโตจาก 95,600 ล้านดอลลาร์ เป็น 1.8 ล้านล้านภายในปี 2573 โดยจะเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า แต่หลาย ๆ บริษัท ยังไม่พร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ได้อย่างเต็มที่

‘ซิสโก้’ ฟันธง ‘เอไอ’ ตัวขับเคลื่อนหลัก ‘เศรษฐกิจโลก’ ทศวรรษหน้า

ขณะที่ ผลสำรวจ AI Readiness Index จัดทำโดย ซิสโก้ พบว่า มีเพียง 1 ใน 5 (20%) องค์กรในไทยเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการปรับใช้ และใช้ประโยชน์จากเอไอ โดย 74% ยอมรับถึงความกังวลอย่างรุนแรงเกี่ยวกับผล กระทบต่อธุรกิจหากไม่ปรับตัวในอีก 12 เดือนข้างหน้า

แต่ข่าวดี คือ ธุรกิจในไทยมองเห็นความเร่งด่วน ในการคว้าโอกาสจากเอไอกันมากขึ้น ช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา เกือบทั้งหมด (99%) ยอมรับว่า องค์กรมีความตื่นตัวต่อการใช้เทคโนโลยีเอไอ และองค์กรมากถึง 97% มีกลยุทธ์เอไอที่แข็งแกร่งอยู่แล้วหรืออยู่ในกระบวนการพัฒนา

อย่างไรก็ดี ยังพบช่องว่างสำคัญในเสาหลักต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล การกำกับดูแล บุคลากร และวัฒนธรรมองค์กร เช่น การทำให้แน่ใจว่าข้อมูลของพวกเขาพร้อมสำหรับเอไอ รวมถึงการสร้างบุคลากรด้านเอไอ ที่มีคุณภาพ, แผนการจัดการการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ ในปี 2567 บริษัทไทยจะต้องต่อสู้กับวิธีจัดการกับเอไอ ภายในองค์กร รวมถึงบุคลากรที่พร้อมใช้งานเทคโนโลยีนั้นด้วย

‘เอไอ’ ทำงานอย่างมีจริยธรรม

เทรนด์ที่สอง เอไอ ที่มีความรับผิดชอบจะเริ่มด้วยการทำงานอย่างมีจริยธรรม สนับสนุนด้วยความไว้ใจ และความโปร่งใส แม้ว่าเอไอ จะมีประโยชน์มหาศาล แต่ยังคงเป็นดาบสองคมที่มาพร้อมความเสี่ยง องค์กรจำเป็นต้องมีนโยบายและโปรโตคอลที่รัดกุม เพื่อการจัดการข้อมูลและระบบเอไอ อย่างมีความรับผิดชอบ

ขณะที่ องค์กรไทยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เอไออย่างมีจริยธรรม แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องปรับปรุง เช่น เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลโดยผลสำรวจเผยว่า น้อยกว่าครึ่ง (43%)มีนโยบายและโปรโตคอลเอไอที่ครอบคลุม และ 17% ขององค์กรยังมี bias โดยไม่มีกลไกอย่างเป็นระบบในการตรวจจับ data bias

เมื่อผลกระทบของเอไอ แพร่หลายมากขึ้น การกำกับดูแลยิ่งต้องพัฒนาต่อไป ทำให้บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องพัฒนากฎระเบียบ ปรับใช้นโยบายภายในที่แก้ไขเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยข้อมูล และการใช้เทคโนโลยีเอไอ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง สามารถจัดการช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นจากระบบเอไอ

รวมถึงฝึกอบรม และยกระดับทักษะบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่า พนักงานยังสามารถรับมือกับความเสี่ยง บริษัทที่สร้างแอปพลิเคชันเอไอ จะต้องคำนึงถึงการรักษาความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และสร้างความไว้วางใจโดยกระบวนการออกแบบนวัตกรรมที่ครบวงจรในผลิตภัณฑ์ บริการ และการดำเนินงานขององค์กร

โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายจะง่ายขึ้น

เทรนด์ที่สาม ยุคใหม่โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายที่ใช้งานง่ายจะเกิดขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัย ความอัจฉริยะให้ธุรกิจ ขณะที่บริษัทต่างๆ หันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลยิ่งมีความสำคัญอย่างคาดไม่ถึง การสร้างเครือข่ายอัจฉริยะ ที่ทันสมัยจะกลายเป็นหัวใจสำคัญในการเติบโตของบริษัท ความยืดหยุ่นและการบูรณาการเครือข่ายกับเอไอ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดความสำเร็จ

นอกจากนี้บริษัทต่างๆ จะตระหนักถึงความจำเป็นของแพลตฟอร์มความปลอดภัยแบบครบวงจร ที่สามารถมองเห็นแบบ end-to-end โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความท้าทายด้าน “ไซเบอร์ซิเคียวริตี้” มีความซับซ้อนขึ้นในยุคของแอปพลิเคชันและมัลติคลาวด์ และพนักงานทำงานจากสถานที่ต่างๆ ได้โดยใช้การเชื่อมต่อหลายรูปแบบ เข้าถึงข้อมูลข้ามแพลตฟอร์ม เครือข่ายจะมีบทบาทสำคัญในการให้ visibility ของผู้ใช้ อุปกรณ์ และเอนทิตีในระบบทั้งหมด ส่งผลให้สามารถเป็นจุดควบคุมเพียงจุดเดียวในการตรวจจับ ป้องกัน และแก้ไขภัยคุกคาม รวมถึงบังคับใช้กฎความปลอดภัยเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของภัยคุกคามในเครือข่ายและลดเวลาการแยกภัยคุกคาม

สู้วิกฤติการณ์โลกร้อน

เทรนด์ที่สี่ ปี2567 จะเป็นปีแห่งการต่อสู้กับวิกฤตการณ์โลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เนื่องจากปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจำกัดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศ เมื่อใกล้ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญนี้ บทบาทของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะยิ่งชัดเจนในการสร้างระบบวัดผลความก้าวหน้าที่แม่นยำและสม่ำเสมอ ทั้งภายในประเทศ ภายในกลุ่มอุตสาหกรรม และระดับโลก แรงกดดันต่อการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการจะยิ่งทวีความสำคัญ

หน่วยงานกำกับดูแลจะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนแผนสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม บริษัทต่างๆ จะเผชิญแรงกดดันในการพัฒนาความยั่งยืน โดยเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการจัดหาข้อมูลเชิงลึกให้กับองค์กรเพื่อให้มีการวัดผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแม่นยำ

รวมถึงการวางแผนสร้างอาคารและพื้นที่ทำงานอัจฉริยะ ผู้ให้บริการ ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อเป้าหมายความยั่งยืนจะเร่งพัฒนาความยืดหยุ่นของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเวิร์กโหลดที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ลดการใช้พลังงานไปพร้อมกัน

เปิดโอกาส “คน” พัฒนาทักษะ

เทรนด์ที่ห้า บุคลากรและการเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง จะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น บริษัทไทยที่กำลังมุ่งสู่ยุคดิจิทัล จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้ทันกับการเติบโต

"แม้ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในไทยจะเฟื่องฟู แต่ยังคงขาดแคลนบุคลากรเทคโนโลยี ทักษะเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ เช่น ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ดาต้าไซน์ และเครือข่าย เป็นที่ต้องการอย่างมาก เป็นโอกาสให้บริษัทต่างๆ ผลักดันการพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีให้พร้อมก้าวสู่โลกอนาคต"