จับตาโรดแมปหาจุดบริหาร ‘โอทีที’ แนะกสทช.ต้องเปิดโต๊ะเจรจา3ฝ่าย
นักวิชาการแนะกำกับดูแลโอทีทีต้องคุย 3 ฝ่าย กสทช.- ผู้ผลิต - ผู้บริโภค ย้ำควรทำโรดแมปร่วมกันหาจุดสมดุลในบริบทของเทคโนโลยี เชื่อออกกฎหมายคุมผู้บริโภคได้ประโยชน์
นายศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาและรักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า ETDA หลังจากที่พ้นกำหนดการแจ้งการประกอบธุรกิจ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่งแล้ว ตาม “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) หรือ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา
โดยสรุปมีแพลตฟอร์มดิจิทัลแจ้งข้อมูล ทั้งสิ้น 835 แพลตฟอร์ม “จาก 15 ประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ทั้งไทย-ต่างชาติ ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ สำหรับแพลตฟอร์มที่เข้ามาให้บริการในประเทศไทย
ทั้งนี้ ยืนยันและให้ความมั่นใจกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎหมายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น จะเน้นการคุ้มครองมากกว่าการเข้าไปควบคุมโดยภาครัฐ แต่ที่ผ่านมาเวลาที่เกิดปัญหาหลายแพลตฟอร์มมักปฏิเสธความรับผิดชอบ จะอ้างว่าเป็นแค่ตัวกลางระหว่างผู้ขายและผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของการเกิดกฎหมายใหม่ คือ “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) หรือ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 เพื่อให้การทำธุรกรรมออนไลน์เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยมีหน่วยงานภาครัฐอย่าง ETDA คอยกำกับดูแล
“การกำกับดูแลแพลตฟอร์มข้ามชาติ อาจจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบธุรกิจไทย”
นายศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐเข้ามาดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วยตัวเอง จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจแพลตฟอร์มใหม่ๆ ของคนไทย สามารถเติบโตได้ ผ่านการวางกฎเกณฑ์การกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสมกับลักษณะการดำเนินธุรกิจที่ต่างไปและยังสร้างความเป็นธรรมระหว่างธุรกิจแพลตฟอร์มกับธุรกิจดั้งเดิม ในทุกๆอุตสาหกรรมทั้งบริการขนส่ง อีคอมเมิร์ซ บริการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และบริการด้านสุขภาพ
แนะ กสทช.ให้ความสำคัญ การกำกับโอทีที ให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
ในความเห็นส่วนตัวมองถึงการกำกับดูแลแพลฟอร์มดิจิทัลที่เป็นบริการเสริมวิ่งบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างบริการโอเวอร์ เดอะ ท๊อป หรือ โอทีที ว่า เป็นเรื่องที่ดีมากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแนวคิดจะเข้ามากำกับดูแลในเชิงสร้างสรรคือกำกับเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น ประกอบกับในกฎหมาย DPS ยังได้เปิดช่องให้ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดการควบคุมดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเรื่องใดไว้โดยเฉพาะก็ให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น
ซึ่งในกรณีของบริการโอทีที ที่เกี่ยวกับการให้บริการภาพและเสียง หรือด้านการสื่อสาร ก็จะมี กสทช. เป็นหน่วยงานเฉพาะที่มีกฎหมายดูแลอยู่ ทั้งนี้ มองว่าการดำเนินการใดๆ รัฐอย่าเพิ่งรีบร้อนออกกฎหมายหรือควรออกเป็น Soft Law ในการกำกับดูแลเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
นอกจากนี้ รัฐ ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ควรหารือกัน 3 ฝ่ายเพื่อสร้างกลไกของผู้มีส่วนได้เสียทั้งอีโคซิสเต็มในอุตสาหกรรมมีการทำ Sandbox หาจุดสมดุลร่วมกันและสุดท้ายสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคในเรื่องของการกำกับดูแลที่จะเกิดขึ้น เพื่อสร้างโรดแมปของการวางนโนบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม
“เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาอย่างรวดเร็วมันจึงเกิดช่องโหว่ของกฎหมายในการเข้ามากำกับดูแล ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ผู้ประกอบการไม่ได้รับความเป็นธรรมในหลายๆกรณี ตรงนี้คือเหตุผลที่หลายฝ่ายต้องเข้ามาคุยกัน”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากสทช.ตระหนักถึงปัญหาความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยเฉพาะต่อกรณีที่ผู้ให้บริการแบบโอทีที โดยเฉพาะแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง ซึ่งให้บริการและประกอบธุรกิจอยู่บนโครงข่ายมือถือ เมื่อลูกค้ามีการใช้งานเป็นจำนวนมาก ถือเป็นภาระให้กับผู้ให้บริการมือถือที่ต้องลงทุนขยายสัญญาณเพิ่มเติมรองรับดังกล่าว และต้องยอมรับว่า กสทช.สามารถกำกับดูแลได้เฉพาะบริการที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมเท่านั้น เป็นเหตุให้ กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะไอพีทีวี (IpTV) หรือโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับบริการโอทีทีหน่วยงานที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะต้องหันมาให้ความสำคัญรวมไปด้วย
ทั้งนี้ จากรายงานทางวิชาการของสำนักงาน กสทช.ที่จัดทำขึ้นเกี่ยวกับบริการโอทีที พบว่า สภาพตลาดและการให้บริการโอทีทีในประเทศไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากบริการ โอทีที เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมากขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตประจำที่ เข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ค่อนข้างจำกัดและอัตราค่าบริการค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การเข้าถึงบริการโอทีทีของผู้บริโภคจึงเข้าถึงได้ผ่านบริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์พกพาผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่
สำนักงาน กสทช.ได้แบ่งผู้ให้บริการ โอทีที ในประทศไทย แบ่งได้ 4 ประเภท ได้แก่
1.ผู้ให้บริการอิสระ (Independent OTT Provider) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเกิดใหม่ในกลุ่มเทคโนโลยี (Tech- Start-up) อาทิ Hollywood HD, Primetime, YouTube, Line, TV, iflix และ Netflix เป็นต้น
2.ผู้ให้บริการช่องโทรทัศน์แบบฟรีทีวี (OTT from Free TV Provider) เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ชมและรักษากลุ่มผู้ชมไว้กับช่องฟรีทีวีให้ได้มากที่สุด
3.ผู้ให้บริการช่องโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (OTT from Pay TV Provider) อาทิ True Visions Mono และ PSI
4.ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (OTT from Telco Provider) คือ AIS Play และ True ID
โดยสำนักงาน กสทช.มองว่า สิ่งที่ผู้ให้บริการโอทีทีอาจต้องเผชิญและเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการโอทีทีได้แก่ การเพิ่มขึ้นของค่าลิขสิทธิ์ของเนื้อหาและปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (Piracy) การแข่งขันด้านราคาและการให้บริการคุณภาพในการรับชมที่ดีแก่ลูกค้า เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ การให้บริการโอทีทีจำเป็นต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ให้บริการโอทีที รายเล็กและรายใหม่ซึ่งมักจะเริ่มต้นจากการมีเงินลงทุนที่ไม่มากนัก นอกจากนี้ เนื่องจากบริการโอทีที เป็นบริการใหม่ที่เกิดจากการหลอมรวมสื่อและมีการแพร่ภาพผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต จึงมีความเกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้