‘ซัมซุง’ ส่งฟีเจอร์ ‘Auto Blocker’ บล็อกแอปเถื่อน - กันภัยโจรไซเบอร์
“ซัมซุง” บล็อกภัยโจรไซเบอร์ ยกระดับความปลอดภัยจากการโจรกรรม ช่วยตำรวจตัดตอนมิจฉาชีพ พร้อมเสริมเกราะให้ประชาชน ล่าสุดเปิดตัวฟีเจอร์ตัวบล็อกอัตโนมัติ นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งานซัมซุงกาแล็คซี่
การโจรกรรมทางไซเบอร์นับเป็นวาระระดับชาติและภัยอันตรายใกล้ตัวที่สร้างความสูญเสียทางทรัพย์สิน รวมไปถึงการใช้ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนในทางที่ผิดกฎหมาย
ไชยวัฒน์ อุดมศรีรุ่งเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ธุรกิจโมบายล์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ซัมซุงได้เสริมเกราะเพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันประชาชนจากอันตรายบนโลกไซเบอร์ พร้อมช่วยตำรวจตัดตอนมิจฉาชีพ ยกระดับความปลอดภัยให้ผู้ใช้ซัมซุงกาแล็คซี่ ด้วยนวัตกรรมใหม่ฟีเจอร์ “Auto Blocker (ตัวบล็อกอัตโนมัติ)”
ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีได้มีการพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเปิดตัว ONE UI 6.0 ที่มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยของสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต
การเปิดตัวฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ “Auto Blocker (ตัวบล็อกอัตโนมัติ)” จะช่วยเสริมเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ให้แก่ประชาชน ตอบโจทย์ยุคที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้นใช้เก็บข้อมูลส่วนตัวรวมถึงใช้ทำธุรกรรมออนไลน์เป็นประจำ
Auto Blocker สร้างมาเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์แบบอัตโนมัติสำหรับผู้ใช้งานกาแล็คซี่ โดยเฉพาะการโจรกรรมประเภท Side loading ซึ่งเป็นการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันจากแหล่งดาวน์โหลดอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อป้อนคำสั่งเจาะเข้าเครื่อง ผ่านรูปแบบต่างๆ
อาทิ SMS ที่มาพร้อมกับลิงก์หรือแอปพลิเคชันแชทต่างๆ และการดาวน์โหลดแอปที่ไม่ได้มาจาก Play store หรือ Galaxy store ซึ่งอาจมีมัลแวร์แฝงมาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น App protection การตรวจสอบความปลอดภัยของแอปที่อาจเป็นมัลแวร์ก่อนติดตั้งและตรวจสอบอัตโนมัติรายวันหลังติดตั้ง รวมถึงป้องกันการใช้คำสั่งที่อันตรายหรือติดตั้งซอฟต์แวร์ผ่านสาย USB เพื่อปกป้องผู้ใช้ในสถานการณ์ที่มีผู้อื่นสามารถเข้าถึงอุปกรณ์โดยตรง เช่น การชาร์จโทรศัพท์ที่สนามบิน หรือ การใช้ USB ในการย้ายไฟล์งานข้ามอุปกรณ์ฯลฯ
เสียหายนับ 2 หมื่นล้านบาท
พลตำรวจตรี ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการโจมตีทางไซเบอร์สร้างความสูญเสียมหาศาลให้กับประชาชน และมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
สถิติของการโจมตีในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมที่เกิดขึ้นสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทจาก 185,814 คดี และมีจำนวนเคสเฉลี่ยต่อวันประมาณ 700 - 800 เคส
สำหรับกลวิธีการโจมตีทางไซเบอร์ พันตำรวจเอกเจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลว่า มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นฟิชชิง การหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว, การ Scam call ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ขณะที่อีกหนึ่งกรณีอันตรายที่หลายๆ ครั้งแฝงมาในแบบที่เราไม่ทันรู้ตัวก็คือประเภทที่เรียกว่า Side loading การโหลดแอปที่ไม่ได้รับการอนุมัติ และอาจแฝงมัลแวร์หรือไวรัส ที่มักมาพร้อมกับไฟล์ที่ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ อีเมล หรืออุปกรณ์เสริมที่เชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์
โดยเมื่อทำการติดตั้งก็จะทำให้มิจฉาชีพสามารถเจาะเข้าสู่ระบบได้ ตัวอย่างที่พบบ่อย เช่น การกดลิงก์ SMS หรือการติดตั้งแอปฟรี แอปเถื่อนต่างๆ ซึ่งนับวันการโจมตีเหล่านี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการพัฒนารูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นไปเป็นลำดับ