‘เอปสัน’ เร่งเกมบุก ‘นิวเอสเคิร์ฟ’ ท้าทาย ‘เศรษฐกิจซบ-ไอทีขาลง’

‘เอปสัน’ เร่งเกมบุก ‘นิวเอสเคิร์ฟ’  ท้าทาย ‘เศรษฐกิจซบ-ไอทีขาลง’

ยักษ์พรินเตอร์“เอปสัน”ร่ายแผนรุกอุตสาหกรรมไอทีประเทศไทย ปักธงลงทุนกลยุทธ์ “5S” ผลักดันการเติบโตสวนกระแสไอทีขาลง เดินหน้าเพิ่มไลน์อัพสินค้า ปั้นนิวเอสเคิร์ฟ เพิ่มโฟกัสธุรกิจบีทูบี หวังปีนี้เติบโตไม่น้อยกว่า 8%

Keypoints :

  • ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะส่งผลกระทบอย่างมากกับคนรากหญ้าและส่งผลให้ตลาดบีทูซีไม่เติบโตหรือฟื้นตัวได้ช้า
  • เอปสันมุ่งลงทุนในจุดแข็ง 5 ด้านเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจ
  • ภายใน 3 จากนี้จะทำให้สัดส่วนรายได้จากบีทูบีเพิ่มขึ้นถึง 50% 

ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดมุมมองว่า ปี 2567 ธุรกิจไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงทั้งการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาหนี้เสียคงค้างของสินเชื่อประเภทต่างๆ ที่อาจส่งผลถึงการจับจ่ายของประชาชนและการลงทุนของภาคเอกชน

รวมไปถึง ผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคซึ่งมีผลต่อราคาน้ำมันโลก

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะส่งผลกระทบอย่างมากกับคนรากหญ้าและส่งผลให้ตลาดบีทูซีไม่เติบโตหรือฟื้นตัวได้ช้า นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงด้านการเมือง นโยบายรัฐที่ไม่แน่นอน รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ แต่ทั้งนี้ยังพอจะมองเห็นโอกาสจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การท่องเที่ยวที่มีทิศทางที่ดีขึ้น และการขยายการลงทุนของภาคเอกชน”

อย่างไรก็ดี เอปสัน ประเทศไทย ยังเชื่อมั่นในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ผ่านการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ว่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวและมีเสถียรภาพได้

มุ่ง S-curve ใหม่ ‘กลยุทธ์ 5S’

สำหรับเอปสัน ทิศทางธุรกิจปี 2567 ตั้งเป้าที่จะรักษาระดับการเติบโตให้ได้ไม่ต่ำกว่า 8% เช่นเดียวกับปี 2566 โดยมุ่งลงทุนในจุดแข็ง 5 ด้านเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจ ประกอบด้วย S-curve strategy เชื่อว่าการที่เอปสันไม่หยุดที่จะมองหาและสร้าง S-curve ใหม่ จะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตก้าวหน้าได้อยู่เสมอ ขณะเดียวกันลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด และสร้างความแตกต่างและโดดเด่นจากคู่แข่ง

จุดแข็งต่อมาคือ Sales Model พัฒนารูปแบบการขายที่หลากหลาย, Service excellence ให้ความสำคัญกับการบริการทั้งก่อนและหลังการขาย

นอกจากนี้ ได้ทุ่มงบประมาณการลงทุนกว่า 30 ล้านบาทในการสร้าง Solution Center แห่งใหม่บนพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นที่จัดแสดงและสาธิตการใช้งานผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่ม

สุดท้าย Sustainable Value คุณค่าด้านความยั่งยืน คือดีเอ็นเอของไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น และขณะนี้ได้ดำเนินธุรกิจบนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระยะยาว “Environmental Vision 2050” อย่างจริงจัง

ล่าสุด เปิดตัวเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทขาวดำที่ใช้หัวพิมพ์ Heat-Free Technology ทั้งในกลุ่ม EcoTank และ WorkForce อย่างละ 2 รุ่น เพื่อมาแข่งขันกับเครื่องพิมพ์เลเซอร์ขาวดำโดยเฉพาะ ตอบโจทย์ตลาดยังมีกลุ่มผู้ใช้ที่เน้นพิมพ์เอกสารขาวดำอยู่ ‘เอปสัน’ เร่งเกมบุก ‘นิวเอสเคิร์ฟ’  ท้าทาย ‘เศรษฐกิจซบ-ไอทีขาลง’ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงาน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล ฯลฯ โดยหลักๆ จะเป็นกลุ่มที่ต้องการเครื่องพิมพ์ที่ให้ต้นทุนการพิมพ์ต่อแผ่นต่ำ ความเร็วระดับปานกลาง แต่สามารถรองรับงานปริมาณมากได้

ธุรกิจโตสวนกระแสไอทีขาลง

ยรรยงให้ข้อมูลถึงรายงานของบริษัทวิจัยจีเอฟเคว่า ปีที่ผ่านมาจากหลายปัจจัยที่ท้าทายส่งผลทำให้ตลาดไอทีประเทศไทยติดลบเชิงยอดขาย 9% เชิงมูลค่ามากถึง 15% ตลาดคอนซูมเมอร์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่วนเอ็นเทอร์ไพรซ์ยังพอไปได้ ขณะที่ภาพรวมตลาดเครื่องพิมพ์ประเทศไทยมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตัว

“ปี  2566 นับเป็นปีที่ท้าทาย แต่เอปสันได้พิสูจน์แล้วว่าดำเนินกลยุทธ์ที่ถูกต้องและอยู่นำหน้าตลาด เพราะในขณะที่ตลาดไอทีเติบโตลดลง ยอดขายทั้งปีของเอปสันกลับเติบโตสวนทาง”

สาเหตุหลักมาจากการปรับตัวและทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปโฟกัสตลาดบีทูบีมากขึ้น โดยไม่พึ่งพาเพียงบีทูซีซึ่งเป็นฐานธุรกิจหลักมากจนเกินไป

เอปสันไม่เพียงปรับโฟกัสธุรกิจมาที่ตลาดบีทูบีตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากความผันผวนที่มีในตลาด ทั้งยังเดินหน้าเพิ่มไลน์อัพสินค้าและสร้าง S-curve ใหม่อยู่เสมอ

“เรามุ่งนำนวัตกรรมใหม่ของเอปสันเองเข้ามาเปิดตลาด สร้างฐานลูกค้าใหม่ พร้อมกับช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากเทคโนโลยีและแบรนด์คู่แข่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงการสร้างรายได้จากสินค้าเดิมหรือสินค้าเพียงกลุ่มเดียว และที่ให้ความสำคัญอย่างมาคือคุณค่าของความยั่งยืน”

ส่วนของเอไอที่กำลังเป็นกระแสการลงทุนในตลาดไอที ทางเอปสันได้มีการพัฒนาฟีเจอร์ที่สามารถตอบโจทย์ได้พอสมควร โดยภาพรวมเน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่เพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภคมากที่สุด

ดันสัดส่วน ‘บีทูบี 50%’ ใน 3 ปี

เอปสันเผยว่า ยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในหลายกลุ่มตลาด โดยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทครองอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 57%, ดอทแมททริกซ์ 90%, โปรเจคเตอร์ 55%, โปรเจคเตอร์ 55% เครื่องพิมพ์ภาพ 58% เครื่องพิมพ์ป้ายโฆษณา 37% และ Desktop POS 29%

โดยสรุป กลุ่มสินค้าของเอปสันที่ทำยอดขายได้อย่างโดดเด่นได้แก่ เครื่องพิมพ์ป้ายโฆษณา Epson SureColor S-series ที่เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 37% สแกนเนอร์เติบโต 37% รับอานิสงค์จากการที่ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ ขณะที่พิมพ์อิงค์เจ็ทสำหรับองค์กร Epson WorkForce ที่โตเกือบ 30%

ส่วนโปรเจคเตอร์ โดยรวมมีการเติบโตได้ดีเพิ่มขึ้นเกือบ 20% และอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่แสดงถึงการเติบโตอย่างมีนัยยะ คือเครื่องพิมพ์มินิแล็บ Epson SureLab ที่โตขึ้นเกือบ 10% ด้านเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งค์ Epson EcoTank มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากตลาดปี 2566 มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในด้านราคา เพื่อจูงใจผู้บริโภค

ขณะที่ กลุ่มเครื่องพิมพ์สิ่งทอ Epson SureColor F-series ไม่แสดงการเติบโต เช่นเดียวกับกลุ่มหุ่นยนต์แขนกล ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของเอปสันมาจากกลุ่มบีทูซี 60% บีทูบีประมาณกว่า 40% คาดว่าภายใน 3 จากนี้จะทำให้บีทูบีเพิ่มขึ้นถึง 50% และเชื่อว่ามีช่องทางที่จะเติบโตได้อีกมาก