TikTok ถอดรหัส 'Shoppertainment' 2024 โอกาสทำเงินขุมทรัพย์ ‘1 ล้านล้านดอลล์’
หากพูดถึงเทรนด์ "ช้อปเปอร์เทนเมนท์ (Shoppertainment)" ที่มีการผสมผสานความบันเทิงเข้ากับการชอปปิงออนไลน์ ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
KEY
POINTS
- Shoppertainment จะเป็นเทรนด์ที่มีอิทธิพลได้ในระยะยาวไม่ได้อยู่แค่ระยะสั้นเพียง 1-2 ปี
- คอนเทนต์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการตัดสินใจ
- สินค้ายอดนิยม ได้แก่ แฟชั่นและเครื่องประดับ ความงามและผลิตภัณฑ์ส่วนตัว อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ในครัวเรือน
หากพูดถึงเทรนด์ "ช้อปเปอร์เทนเมนท์ (Shoppertainment)" ที่มีการผสมผสานความบันเทิงเข้ากับการชอปปิงออนไลน์ ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีโอกาสสร้างรายได้ถึง 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568
ชลธิชา งามกมลเลิศ Head of Client Partnership TikTok กล่าวว่า ปัจจัยการเติบโตที่สำคัญมาจากการที่คนไทยเปิดรับการมาของสิ่งใหม่ๆ อีโคซิสเต็มและเศรษฐกิจครีเอเตอร์มีความพร้อม และที่สอดคล้องกันไปนักการตลาดต่างมองเห็นถึงโอกาสที่มาพร้อมกับเทรนด์เหล่านี้
“ด้วยองค์ประกอบของอีคอมเมิร์ซและคอมมูนิตี้ครีเอเตอร์ที่แข็งแกร่ง รวมถึงการเลือกลงทุนของแบรนด์ที่ตอบโจทย์ตามความสนใจของผู้บริโภคชาวไทยที่ชื่นชอบความบันเทิงและอารมณ์ขัน ทำให้ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นตลาดสำคัญในการเติบโต”
การเติบโตดังกล่าวยังมีส่วนช่วยสนับสนุนให้มูลค่าตลาด Shoppertainment ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2568 ขณะเดียวกันครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซ จากที่ผู้บริโภคจำนวนมากพร้อมมีส่วนร่วมกับการชอปปิงผ่านคอนเทนต์ที่มีความบันเทิงและระบบนิเวศที่แข็งแรง
สำหรับหมวดหมู่สินค้ายอดนิยม ได้แก่ แฟชั่นและเครื่องประดับ ความงามและผลิตภัณฑ์ส่วนตัว อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ในครัวเรือน ซึ่งคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในหมวดหมู่เหล่านี้
อนาคตการชอปปิงยุคดิจิทัล
ล่าสุด TikTok ร่วมกับ เอคเซนเชอร์ (Accenture) เผยข้อมูลเชิงลึกจากรายงาน “Shoppertainment 2024: THE FUTURE OF CONSUMER & COMMERCE”
การสำรวจการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า การชอปปิงของผู้บริโภคมีพัฒนาการที่สนใจเนื่องจากอิทธิพลของคอนเทนต์
โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ประการคือ การเพิ่มขึ้นของการพิจารณาคอนเทนต์ที่ไม่ส่งเสริมการขายเพื่อตัดสินใจซื้อ โดยผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า 88% ได้รับอิทธิพลจากคอนเทนต์ดังกล่าว
ประการที่สอง การสืบค้นข้อมูลสินค้าและตัดสินใจซื้ออย่างไร้รอยต่อ โดย 97% ค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์และทำการซื้อภายในพื้นที่เดียวกัน
นอกจากนี้ พบการเพิ่มขึ้นของเสรีภาพในการรับชมข้อมูลและการร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์คอมมูนิตี้ ผู้บริโภคมากกว่า 60% ได้รับอิทธิพลจากการมีส่วนร่วมของพวกเขา
ท่ามกลางยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน คอนเทนต์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการตัดสินใจ
"ยุคทองของคอนเทนต์เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ เชื่อว่า Shoppertainment จะเป็นเทรนด์ที่มีอิทธิพลได้ในระยะยาวไม่ได้อยู่แค่ระยะสั้นเพียง 1-2 ปี”
‘6 ความต้องการ’ ผู้บริโภคนิวเจน
สถิติที่โดดเด่นในรายงานชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดประเทศไทย โดยเผยถึงความสนใจที่ลดลงต่อคอนเทนต์ส่งเสริมการขายแบบดั้งเดิมพบว่ามีผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากกลุ่มตัวอย่างตามแต่ละประเทศ คือ 12% ในเกาหลีใต้และประเทศไทย 27% ในประเทศญี่ปุ่น และ 41% ในอินโดนีเซีย แสดงความชื่นชอบต่อคอนเทนต์ที่ไม่เน้นการขายถึง 79% และในประเทศไทยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีความสัมพันธ์และประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์
ทั้งนี้ ความต้องการซื้อสินค้าออนไลน์ 6 ประการ ประกอบด้วย การตรวจสอบ (Validation): การเลือกผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดและดีที่สุดเพื่อตรวจสอบการตัดสินใจชอปปิงของพวกเขา การปรับปรุง (Improvement): มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับปรุงล่าสุดเพื่อคุณสมบัติที่ดีกว่า ความสะดวกสบาย (Convenience): เพื่อการซื้อที่ง่ายดาย สะดวก คุ้มค่า ผ่านการจัดส่งที่เชื่อถือได้
ขณะที่ อีก 3 ประการที่เน้นตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ ได้แก่ การได้รับคำแนะนำ (Recommendation): เปิดรับคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากบุคคลและแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ การได้แรงบันดาลใจ (Inspiration): มีความต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เมื่อรู้สึกว่ามีแรงบันดาลใจจากเทรนด์และผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม และ การทำตามใจตนเอง (Indulgence): การใช้ประสบการณ์ชอปปิงเพื่อปรนเปรอและตามใจตนเอง
‘3 จุดเปลี่ยน’ อิทธิพล ‘คอนเทนต์’
สุนาถ ธนสารอักษร กรรมการผู้จัดการ Accenture Song ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า วันนี้จะใช้เพียงส่วนลดเป็นตัวขับเคลื่อนไม่ได้ ต้องมีคอนเทนต์ที่ดี อีกทางหนึ่งตอบโจทย์ทั้งด้านประสบการณ์การจับจ่าย พร้อมตอบสนองต่อความต้องการทางอารมณ์
การศึกษาพบว่า อิทธิพลของคอนเทนต์ ก่อให้เกิด 3 การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่ คือ การพิจารณา (Consider): เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการพิจารณาในการตัดสินใจซื้อ โดยผู้ซื้อมีแนวโน้มพิจารณาซื้อสินค้าและบริการโดยใช้สัญชาตญาณของตน (Intuitive Decisions) ประกอบกับการหาชมคอนเทนต์เพื่อยืนยันแนวคิดของตน มากกว่าการตัดสินใจซื้ออย่างเร่งด่วนทันที
ผลสำรวจในประเทศไทยเผยว่า ผู้บริโภคกว่า 88% ได้รับอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยคอนเทนต์ที่ไม่มีการส่งเสริมการขาย
การบริโภค (Consume): เกิดการสืบค้นข้อมูลสินค้าและตัดสินใจซื้ออย่างไร้รอยต่อ ผู้บริโภคสามารถเปลี่ยนแปลงจากการรับชมคอนเทนต์สินค้าไปสู่การซื้อสินค้าอย่างง่ายดาย (Effortless Browse-to-Buy) ภายในแพลตฟอร์มดิจิทัลเดียวกัน
ผู้บริโภคกว่า 97% เผยความต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า พิจารณา และตัดสินใจซื้อภายในแพลตฟอร์มเดียว โดยมีความชื่นชอบในแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยคอนเทนต์ และสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแบรนด์และผลิตภัณฑ์
การเชื่อมต่อ (Connect): เมื่อผู้บริโภคมีเสรีภาพในการรับชมข้อมูลและร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์คอมมูนิตี้ ส่งผลถึงการเติบโตของคอมมูนิตี้ครีเอเตอร์ พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและแบรนด์
ผลสำรวจเผยว่า กว่า 60% ของผู้บริโภคได้รับอิทธิพลทางความคิดจากการได้มีส่วนร่วมหรือปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์คอมมูนิตี้