’ดีอี‘ ชู ‘เอไอ’ วาระแห่งชาติ ดันพลเมืองดิจิทัลช่วยเคลื่อนประเทศ
“ประเสริฐ”ร่ายแผนยุทธศาสตร์ AI ยาวถึงปี 2570 อัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูล การส่งเสริมและขยายผลมีการจัดตั้งเนชั่นแนล เอไอ เซอร์วิส แพลตฟอร์ม พร้อมผลักดันการสร้างพลเมืองดิจิทัลสร้างแต้มต่อการแข่งขันประเทศ
KEY
POINTS
- กระทรวงดีอี มีแผนการดำเนินงานใน 2567 ภายใต้แผนปฎิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (เอไอ) เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 -2570)
- ยุทธศาสตร์ด้าน AI มีทั้งหมด 5 ข้อ โดยจะเป็นการสร้างกำลังคน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
- Cloud First Policy นั้น กระทรวงดีอี จะผลักดันการใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก มุ่งสู่การเป็นคลาวด์ฮับของภูมิภาค
- ผลักดันให้เกิด ‘ไทยแลนด์ซูเปอร์แอป’ มีบริการของ ภาครัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ โอนเงิน ประกันสังคม เรื่องการศึกษา และการสาธารณสุข
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทววงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เทคโนโลยีดิจิทัลกับการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทใน งาน Next Step Thailand 2024: Tech & Sustain ก้าวต่อไปของนวัตกรรมและความยั่งยืน ณ ห้องพญาไท 3-4 ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงดีอี มีแผนการดำเนินงานใน 2567 ภายใต้แผนปฎิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 -2570)
โดยมียุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ
-ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบ สร้างความตระหนักด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล AI
-ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลสำหรับ AI การส่งเสริมและขยายผล AI มีการจัดตั้ง National AI Service Platform เพื่อรองรับการเป็น แพลตฟอร์ม AI กลางของประเทศ
-ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนากำลังคนด้าน AI ในระดับกลางและระดับสูง (AI Talent)
-ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการวิจัยและพัฒนา AI ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีกลุ่มเศรษฐกิจนำร่อง 3 กลุ่มคือเกษตร สุขภาพ/การแพทย์ และ ภาครัฐ
-ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งาน AI รวมถึงขับเคลื่อน Tech Startup ด้าน AI
“โดยแผนงานด้านเอไอนั้น ดีอีถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะช่วยวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความแข็งแกร่งแข็งแรงเพิ่มขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับต่างชาติบนเวทีโลกดังนั้นสิ่งที่กระทรวงต้องดำเนินการคือสร้างคนสร้างพลเมืองดิจิตอลให้มีความพร้อมในด้านนี้อย่างไรก็ตามก็ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับการนำเอไอมาใช้ดังนั้นกระทรวงก็จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนด การใช้งานเ ไอให้มีจริยธรรมควบคู่กันไปด้วย”
โดยปีนี้ดีอีได้วางแผนงาน Flagships ในการดำเนินงาน 7 ด้านหลักประกอบด้วย
1. Cloud First Policy
2. AI Agenda
3. 1 อำเภอ 1 IT Man
4. พัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital Manpower)
5. Cell Broadcast
6. แก้ปัญหาภัยออนไลน์
7. ยกระดับ Thailand Digital Competiveness Ranking
ในส่วนของ Cloud First Policy นั้น กระทรวงดีอี จะผลักดันการใช้ระบบคลาวด์เป็นหลัก มุ่งสู่การเป็นคลาวด์ฮับของภูมิภาคมีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประเทศที่ทันสมัย มั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากลยกระดับการทำงานภาครัฐ ด้วยเทคโนโลยีให้บริการระบบคลาวด์เพื่อพัฒนาการบริการประชาชนไม่น้อยกว่า 220 กรม 75,000 Virtual Machine (VM) ประหยัดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลของประเทศ 30-50%
รวมถึงมีการส่งเสริมการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล และการใช้ประโยชน์ จากบิ๊กดาต้าสนับสนุนท้องถิ่นประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการทำงานส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนด้านคลาวด์ของประเทศ รวมถึง ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างประเทศ
กระทรวงดีอีจะเร่งดำเนินการในการขับเคลื่อนระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาข้าราชการภายใต้สำนักงาน สถิติจังหวัดและอำเภอ เป็น IT Man จำนวน 1,196 คน ครอบคลุม 878 อำเภอทั่วประเทศ มีศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2,222 แห่ง ให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจำนวน 24,654 หมู่บ้าน พัฒนาสภาเยาวชนดิจิทัล รวมถึงสร้างชุมชนโดนใจมากกว่า 500 ชุมชน
รมว.ดีอี กล่าวอีกว่า เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศจะประกอบไปด้วย 3 ด้านสำคัญคือ
เครื่องยนต์ที่ 1 มุ่งเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ผ่านนโยบาย Cloud First Policy เป็นคลาวด์แบงก์ใหญ่รวมทุกอย่างในที่เดียวกัน และเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เป็น Open Data
มีการเชื่อมดิจิทัลไอดี อย่างกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง มี Thaid มีคนเข้าไป 12 ล้านคน มี “ทางรัฐ” ของสำนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ที่มีคน 3 แสนคน หรือ “หมอพร้อม” ของกระทรวงสาธารณสุข ก็มี 30 ล้านคน เช่นกันกับ “เป๋าตัง” ที่มีคนอยู่ประมาณ 30 กว่าล้าน แต่ยังไม่มีแอปพลิเคชั่นของคนไทยที่คนไทยเข้าไปใช้มากที่สุด
เพราะปัจจุบันมีข้อมูลกระจัดกระจายบนคลาวด์ ดังนั้น ดีอีจะสนับสนุนให้เกิดแอปภาครัฐจะมีประชาชนมาใช้บริการได้ทุกวันตลอดเวลา เป็นรัฐบาลดิจิทัลจึงต้องหาทางนำบริการ มารวมเป็น “ไทยแลนด์ซูเปอร์แอป” มี All Service ภาครัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ โอนเงิน ประกันสังคม เรื่องการศึกษา และการสาธารณสุข
เครื่องยนต์ที่ 2 มุ่งสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) ซึ่งเราได้ดำเนินการเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านแผนงานการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์โดยเร่งด่วน โดยประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบและจับกุมผู้เปิดบัญชีแทน/บัญชีม้าในประเทศไทย เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการอายัดบัญชีให้ทันท่วงที
เครื่องยนต์ที่ 3 มุ่งเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) โดยให้ความสำคัญกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ดิจิทัล สร้างรากฐานอนาคตประเทศ โครงการ พัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital Manpower) กระทรวงดีอี มีการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลกำลังคนดิจิทัล นอกจากนี้รัฐบาลมีแผนที่จะดึงดูดกำลังคนดิจิทัลและมีการทำ Global Digital Talent VISA เพื่อดึงคนจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย