ทีวีดิจิทัลเบรก ‘กสทช.’ ประมูลคลื่น 3500 ยันยังมีคนดูผ่านดาวเทียมเกิน 60%
ผู้บริหารทีวีดิจิทัล ตบเท้าพบ กสทช. เสนอ 2 ข้อเรียกร้องอนาคตทีวีดิจิทัล เร่งแก้กฎหมายยกเลิกประมูลช่อง หลังใบอนุญาตหมดปี 2572 พร้อมเบรคประมูลคลื่น 3500 MHz ยันคนดูผ่านดาวเทียม 60% ชี้กระทบยอดคนดู โฆษณาหดหาย
KEY
POINTS
- ขณะนี้ทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดใบอนุญาตที่ได้รับจาก กสทช.ในเดือนเม.ย.ปี 2572
- สมาคมทีวีดิจิตอลฯเรียกร้องให้ขอให้กสทช.แก้กฎหมาย ไม่ควรมีการประมูลช่องอีกต่อไป
-
สมาคมทีวีดิจิตอลแสดงเจตจำนงค์ของผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการให้กสทช.นำคลื่น 3500 MHzมาประมูล
-
เนื่องจากจะทำให้กระทบต่อธุรกิจ คนดูและรายได้จากโฆษณาหายไป
วันนี้ (18 มี.ค.2567) 4 กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำโดยนางสาวพิรงรอง รามสูต ,พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ , นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่อง อาทิ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จีเอ็มเอ็ม 25 , นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เนชั่นทีวี ,นายวัชร วัชรพล ไทยรัฐทีวี, นายเดียว วรตั้งตระกูล ช่องวัน 31 และ นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เพื่อหารือแนวทางการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัลหลังจากใบอนุญาตหมดอายุเดือน เม.ย.2572 รวมถึงการนำคลื่น 3500 MHz มาประมูลในธุรกิจโทรคมนาคม
นายสุภาพ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกันระหว่างทีวีดิจิทัล และ กสทช. ถึงอนาคตของทีวีดิจิทัล หลังหมดใบอนุญาตในเดือน เม.ย. 2572 โดยมีการเสนอข้อเรียกร้อง 2 เรื่อง
ได้แก่ 1. ขอให้กสทช.แก้กฎหมายการประมูลคลื่นทีวีดิจิทัล เนื่องจากตามกฎหมายระบุว่า เมื่อสิ้นสุดใบอนุญาตต้องประมูลต่อ แต่ผู้ประกอบการทุกรายเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ควรมีการประมูล
ดังนั้น จึงต้องหารือกันต่อไปว่า หากไม่เป็นรูปแบบการประมูลแล้ว จะสามารถแก้ไขเป็นการให้ใบอนุญาตแบบใด หรือ มีการจ่ายค่าใบอนุญาตแบบไหน จึงจะเหมาะสมและไม่ถูกมองว่าผู้ประกอบการเอาเปรียบหรือกสทช.เอื้อประโยชน์ให้เอกชน
2.การแสดงเจตจำนงค์ของผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการให้กสทช.นำคลื่น 3500 MHz ไปประมูลใช้ในกิจการโทรคมนาคม
เนื่องจากข้อมูลผลการสำรวจการรับชมทีวีดิจิทัลของ บริษัท เอซีนีลเส็น จำกัด พบว่า ประชาชนรับชมทีวีดิจิทัลผ่านสัญญาณดาวเทียม 60% ขณะที่รับชมผ่านกล่องดิจิทัลของ กสทช.เพียง 10% เท่านั้น
ดังนั้น หากนำคลื่น 3500 MHz ไปประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม ก็จะทำให้กระทบต่อธุรกิจ คนดูและรายได้จากโฆษณาหายไป
นายสุภาพ กล่าวว่า การแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ตัวรับสัญญาณ จะมีค่าใช้จ่าย และการดำเนินการยุ่งยาก ดังนั้น จึงขอให้กสทช.นำข้อมูลความเดือดร้อนของผู้ประกอบการไปใส่ไว้ในรายละเอียดการประชาพิจารณ์คลื่น 3500 MHz ที่กสทช.จะดำเนินการด้วย
“เราไม่รู้ว่า อีก 5 ปี หรือ อนาคต เทคโนโลยีใดจะมา คนยังดูทีวีดิจิทัลผ่านกล่อง หรือ ดาวเทียม หรือไม่ หรือคนจะหันไปดูผ่านอินเทอร์เน็ตกันหมด แต่เราก็ต้องเสนอ 2 เรื่องนี้ให้กสทช.รับทราบ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับธุรกิจของผู้ประกอบการ”
ด้านนายสมภพ บอร์ดกสทช. กล่าวว่า การประชุมร่วมกับสมาคมฯ นั้น กสทช.ได้รับฟังข้อเสนอแนะ และข้อกังวลของผู้ประกอบการทั้งหมด โดยมีทางคณะทำงานของ กสทช. เข้าร่วมรับฟังด้วย ซึ่งก็พร้อมนำไปพิจารณาในที่ประชุม แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะรับข้อเสนอของผู้ประกอบการได้ทั้งหมดหรือไม่ ทางบอร์ด กสทช.คงต้องมีการหารือร่วมกันก่อน