3 มุมมองความท้าทาย ’เอไอ‘ บนจุดตัดด้านจริยธรรม และธรรมาภิบาล
การบังคับใช้กฎหมายด้านเอไอเพื่อให้มีจริยธรรม และธรรมาภิบาลเป็นความท้าทายใหม่ที่เข้ามาในทุกอุตสาหกรรม และการกำกับดูแลของภาครัฐว่าจะมีทิศทางอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบด้านทุกมิติ
ภายในงานเสวนา: AI Ethic: Trust & Transparency จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ"
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช.กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากของการใช้เอไอคือ สังคมมีความเป็นห่วงมากเกินไป ว่าเป็นดาบสองคม แต่ไม่รู้จักว่าจะใช้งานทางบวกอย่างไร และระวังเรื่องทางลบอย่างไร ด้านบวกหากไม่ใช่ ก็เปรียบเสมือนดาบทื่อ กลายเป็นไม่นำมาใช้ประโยชน์ใดๆ เลย
ส่วนเรื่องการออกกฎหมายนั้น เชื่อว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และ เป็นเรื่องของการบังคับใช้มาสเตอร์แพลน ที่ย่อมต้องตามมากับพัฒนาการ การใช้เอไอนั่นคือ การใช้งานอย่างมีจริยธรรม และมีกฎหมาย ต้องให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ควบคู่กับการพัฒนาคนให้ใช้งานอย่างมีจริยธรรม ต่อไปเมื่อมีการนำเอไอมาใช้ จะเชื่อได้อย่างไร ถ้าเอไอตอบคำถามผิด จะรู้หรือมีกลไกในการตรวจสอบอย่างไร เพราะการตรวจเอไอไม่ได้ง่ายเหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่สามารถทดสอบออกมาได้ว่าโปรแกรมนี้ถูกหรือไม่
“เอไอขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ข้อมูลที่หลากหลายคำตอบที่ได้ จะดีที่สุดกับองค์กรของท่านหรือไม่ หรือดีในแง่ของจริยธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ ในระหว่างที่กฎหมายกำลังขับเคลื่อน เราต้องตอบตัวเองให้ได้ ว่าจะมีการจำกัดดูแลกลไกของมันได้อย่างไร”
พลอากาศตรี อมร กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดจากการใช้เอไอการใช้เทคโนโลยี Deep Fake จึงเข้าใจได้ว่า สหภาพยุโรปจึงต้องออกกฎหมายเอไอขึ้น แต่กฎหมายก็ไม่ควรทำให้ยุ่งยาก จนคนไม่กล้าใช้เอไอ ความยากของการออกกฎหมายคือ จะบังคับใช้ยังไง หรือจะเป็นเหตุให้คนที่รู้จักไม่เพียงพอ กลัวการใช้ เอไอหรือไม่ ตรงนี้อันตรายที่สุด หัวใจหลักต้องทำเพื่อดูแลปกติสุขของคนในภาพรวม ต้องไม่ทำในทางที่ผิด จะลงโทษอย่างไร ต้องแยกแยะให้ออกว่าสิ่งไหนเชื่อถือได้ ฝากให้ดูรอบด้าน
ขณะที่ในแง่ของคุณธรรมจริยธรรมไม่ได้หมายถึงความสูงส่งเพื่อทุกคน แต่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่กำหนด มากกว่า ว่า มีความชัดเจนแค่ไหน ต้องการนำเอไอเข้ามาทำอะไร มีเป้าหมาย และต้องทำให้ได้ตามนั้น
ขณะที่ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA กล่าวว่า หากถามว่าปัจจุบันหลายประเทศโหมประเด็นเรื่องการบังคับใช้เอไอการกลัวการมาถึงเอไอ จริงๆ ประเด็นนี้ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่กังวลแต่ทุกอย่างควรมาพร้อมกับความเข้าใจการใช้เอไอ ดังนั้นหากประเทศไทยไม่เข้ามาในตลาดหรือไม่นำเอาเอไอมาประยุกต์ใช้ก็จะเป็นการเสียโอกาสแต่หากจะพูดกันในเรื่องของกฎหมายควร Wait & See มากกว่าแล้วมาเตรียมความพร้อมเรื่องการกำกับดูแลให้เอไอมีธรรมาภิบาลประยุกต์ใช้ให้เข้ากับประเทศไทย
ยอมรับว่าคงไม่มีประเทศไหนที่อยากจะเสียโอกาสจากการนำเอาเอใช้มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนการพัฒนาประเทศในทางด้านเศรษฐกิจ และทางสังคมแต่หากรากฐานของการกำกับดูแลการเอไอไม่แข็งแรงพอจะทำให้เกิดช่องโหว่เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เราบรรดามิจฉาชีพใช้เอไอเข้ามาหลอกลวงประชาชนซึ่งประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นปัญหาสำคัญมากของโลกในขณะนี้
“จำเป็นจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง และประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีเอไอในทุกๆ เซกเตอร์โดยที่ปราศจากอคติไม่เลือกปฏิบัติมุ่งทางด้านการกำกับดูแลของเล็กกูเลเตอร์ในแต่ละอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับการแข่งขันในตลาดนั้น ดังนั้นส่วนตัวมองว่าธรรมาภิบาลด้านเอไอจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปพร้อมเทคโนโลยีได้”
เขากล่าวเสริมว่า ประเด็นเรื่อง เอไอ กอฟเวอร์แนนซ์ (AI Governance) ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ถูกบรรจุอยู่ใน แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอไออย่างมีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบ สอดคล้องกับมาตรฐานของสากล
ดังนั้น การพัฒนาบริการดิจิทัลตลอดจนการมีธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ (Digital Service and AI Governance) โดยจะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ และยังเป็นอีกส่วนสำคัญในการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศในระยะยาว จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ท้าทาย ซึ่ง ETDA ได้มุ่งเน้นผ่านการดำเนินงานทั้งในมุมของการส่งเสริม และการดูแลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเอไอมาอย่างต่อเนื่อง
นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสในฐานะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมดิจิทัลเซอร์วิสครบวงจร ความท้าทายคือการหาจุดสมดุลการนำเอาเอไอมาให้บริการเพื่อนำเสนอสินค้า และบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด แต่ความท้าทายคือ การใช้เอไอในขอบเขตที่พอดีกับความยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลของลูกค้าและการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าเพราะในทุกๆ วัน บริษัทอย่างเอไอเอสมีถังข้อมูลของลูกค้ามหาศาล ดังนั้น การนำเอไอมาใช้สำหรับเอไอเอสคือ เพื่อสร้างบริการที่เป็นเลิศ แต่อยู่ในกรอบจริยธรรมอย่างเข้มงวด