กสทช.เร่งเครื่องประมูล 2 วงโคจรดาวเทียม อุบไม่เน้นราคา-ขอแค่ได้รักษาสิทธิ
จับตาการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ ใหม่เข็นประมูล 50.5 และ 142 องศา นไม่เน้น เรื่องราคาประมูล แต่จะเน้นให้สามารถรักษาวงโคจรต่อไอทียูไว้ให้ได้ จ่อสรุปค่าปรับดัดหลังเอกชนถ้าทิ้งไลเซ่น
นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านโทรคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้เตรียมเสนอที่ประชุม บอร์ดกสทช. เพื่อพิจารณาการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (แพ็กเกจ) ในสองวงโคจรที่ยังประมูลไม่ออก คือ วงโคจร 50.5 องศาตะวันออก วงโคจร 142 องศาตะวันออก ซึ่งหาก บอร์ด กสทช.เห็นชอบ ก็จะดำเนินสามารถเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ เพื่อที่จะได้รักษาสิทธิสองวงโคจรดาวเทียมดังกล่าวไว้ มิเช่นนั้นอาจจะถูกยกเลิกข่ายงานดาวเทียมดังกล่าวตามข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้
“การปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ ใหม่นี้ จะไม่เน้น เรื่องราคาประมูลดาวเทียม แต่จะเน้นให้สามารถรักษาวงโคจรไว้ให้ได้ เพื่อให้เอกชนสนใจเข้าร่วมประมูล แต่ จะมีข้อแม้ว่าหากเอกชนที่เข้าร่วมประมูลชนะ ได้สิทธิใบอนุญาตไป แต่ไม่ดำเนินการส่งดาวเทียมขึ้นวงโคจรตามสิทธิที่ได้ ก็จะถูกปรับในมูลค่าที่สูง เพื่อป้องกันไม่ใช้เอกชนเข้ามาประมูลแล้วทิ้งใบอนุญาต”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญในการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ หลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ที่ได้ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีประเด็นหลัก ดังนี้
1. คุณสมบัติของผู้ขอรับอนุญาต ยังคงเดิมเพื่อผ่อนคลาย เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาได้ แต่คงมีมาตรการบังคับที่เข้ม กรณีที่ได้ไปแล้วไม่สามารถดำเนินการได้
2. วิธีการคัดเลือก ยังคงใช้วิธีการประมูล โดยมีราคาขั้นต้นที่ปรับในส่วนของราคาโอกาสในการทำธุรกิจ ออก ให้เหลือเฉพาะต้นทุนที่รัฐได้ใช้ไปในการได้ข่ายงานดังกล่าว และมีการเสนอทางเลือกที่ 1 คือ การใช้ราคารูปแบบเคาะราคา เช่นเดิม หรือ ทางเลือกที่ 2 คือ การเสนออัตราผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5%
3. ข้อกำหนดให้มีดาวเทียมเป็นของตนเอง ได้ปรับจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาในการดำเนินการที่ผ่อนคลาย มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ให้บริการ ของดาวเทียมในครั้งนี้อยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขในการนำคลื่นความถี่ ขึ้นใช้งานกับดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิวงโคจรยังคงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับไอทียู เช่นเดิม
และ 4. เงื่อนไขอื่นๆ เช่น การจัดตั้งสถานีควบคุมดาวเทียมและการให้เพิ่มเติ่มการอนุญาตสถานีควบคุมการบริการ จัดการดาวเทียมนอกประเทศไทยรวมทั้งการกำหนดให้มีช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐ ยังคงมีไม่น้อยกว่า 400 เมกะบิตต่อวินาที หรือ 1 ทรานสปอนเดอร์เช่นเดิม