ตั้งเลขาฯกสทช.ป่วนไม่หยุด ‘วุฒิสภา’ รับลูกมีมติส่งผลศึกษาฯไปสอบต่อ
ที่ประชุม ‘วุฒิสภา’ ไฟเขียวส่งผลศึกษาปมสรรหา ‘เลขาธิการ กสทช.’ ล่าช้า ให้ ‘ครม.-ป.ป.ช.’พิจารณา หลังล่าช้าเกือบ 2 ปี หวั่นเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (1เม.ย.) ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ หลังจากประธานคณะกรรมาธิการฯ กรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช. เกี่ยวกับการตีความบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่ตรงกันกรณีการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงรายละเอียดของรายงานผลการพิจารณาศึกษาฯ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายรายงานฯฉบับดังกล่าวเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงแล้ว
โดยผลสรุปที่ประชุมวุฒิสภา มีมติให้ส่งรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ฯ พร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานฯของคณะกรรมาธิการฯและ ส.ว. ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงาน กสทช. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ในรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ดังกล่าว ได้มีข้อเสนอให้ทบทวนหลักเกณฑ์และกระบวนการสรรหาดังกล่าวตั้งแต่ก่อนเริ่มกระบวนการคัดเลือก และภายหลังกระบวนการคัดเลือก รวมถึงจัดส่งรายงานฯไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อพิจารณาว่าการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ตามประกาศประธาน กสทช. ลงวันที่ 17 มี.ค.2566 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่
รวมถึงส่งรายงานฯไปให้ ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาหยิบยกเรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งใช้เวลามาแล้ว 1 ปี 9 เดือน มาพิจารณาดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิ ประธาน กสทช. บอร์ดกสทช. และรักษาการเลขาธิการ กสทช. มีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เป็นต้น
เหตุผลที่ กมธ.โทรคมนาคมฯ วุฒิสภา พิจารณาคุณสมบัติประธาน กสทช. สืบเนื่องจากนายภูมิสิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ได้มีหนังสือถึงประธานวุฒิสภา ลงวันที่ 28 ก.ย. 2566 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. โดยขอให้วุฒิสภาตรวจสอบว่านพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ มีลักษณะต้องห้าม ตามาตรา 7 (12) และ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน ตามมาตรา 8 และ มาตรา 18
รวมทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
แม้ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำสั่งยกฟ้องของ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ไปเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แต่เนื่องจาก กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ วุฒิสภา เห็นว่ากระบวนการคัดเลือก เลขาธิการ กสทช. ล่าช้าเนื่องจากความเห็นแตกต่างของบอร์ดกสทช. โดย ที่ประชุมบอร์ดกสทช. วันที่ 17 ม.ค. 2567 ที่ประชุมบอร์ดวาระพิเศษเวลา 9.30 น.ได้มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบชื่อนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ตามที่นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.ที่เสนอรายชื่อ
โดยได้เหตุผลว่า โดยบอร์ดเสียงข้างมาก 4 คนประกอบด้วย ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ , น.ส.พิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ไม่เห็นชอบกับกระบวนการสรรหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น เพราะยืนยันว่าการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. เป็นอำนาจของบอร์ดทุกคน