“เทคโนโลยีดิจิทัล” กับการเดินทางยุคใหม่ "เที่ยวสะดวก ประหยัด ปลอดภัย"
แม้ผมจะเป็นคนรุ่น Gen X ในช่วงต้นที่เกือบจะเป็นยุค Baby Boomer แต่เมื่อต้องเดินทางไปที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมนิยมที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการจัดการเดินทางทั้งหมดมานานแล้ว
ผมซื้อตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถไฟ และจองโรงแรมแบบออนไลน์มามากกว่าสิบปี หรือแม้แต่เช็คอินส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีการทำออนไลน์เช็คอินและใช้ Boarding pass ที่อยู่บนมือถือ แทบไม่มีตั๋วที่เป็นกระดาษออกมา ยิ่งถ้าเป็นการเดินทางส่วนตัวก็จะบริหารจัดการเองทั้งหมด การเดินทางหลังจากยุคโควิดในปัจจุบันยิ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น และพอมีเอไอเข้ามาก็ยิ่งช่วยทำให้เราบริหารจัดการการเดินทางได้ง่ายยิ่งขึ้น
เริ่มตั้งแต่การวางแผนการเดินทาง ถ้าเป็นทริปส่วนตัวจะไปท่องเที่ยว เมื่อก่อนก็มักจะค้นข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ บางครั้งก็ดูคลิปในยูทูบที่อาจมีคนแนะนำการท่องเที่ยวต่างๆ แต่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาผมเริ่มใช้ Generative AI อย่าง ChatGPT วางแผนการท่องเที่ยว เราเพียงแค่ถามคำแนะนำคร่าวๆ ว่าจะเดินทางไปไหน ใช้เวลากี่วัน ควรไปไหนบ้าง ChatGPT ก็จะตอบคำถามให้เราเสมือนเป็นไกด์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวแนะนำให้เราได้เป็นอย่างดี
ยิ่งขณะนี้มีเครื่องมืออย่าง Google Gemini ที่สามารถเชื่อมต่อกับ Google Flights, Google Hotels และ Google Maps ก็จะแสดงรูปภาพสถานที่ที่แนะนำ หรือแม้แต่บอกเที่ยวบินหรือโรงแรมที่ควรพักให้เราจองได้ทันที
การจองเครื่องบินหรือที่พักก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เดินทางยุคปัจจุบันควรทำออนไลน์ เพราะเราสามารถที่จะสอบถามจากแพลตฟอร์มต่างๆ และให้เปรียบเทียบราคาได้เลย ซึ่งผมไม่เคยที่จะซื้อผ่านตัวแทนในรูปแบบเดิมมานานมากแล้ว
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือบางครั้งเราเดินทางในต่างประเทศและต้องการจองตั๋วรถไฟในการเดินทาง เราสามารถจองตั๋วล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งจะมีความสะดวกและรวดเร็วมากกว่าไปซื้อที่สถานี ยิ่งถ้าเป็นการเดินทางในยุโรปหรือสหรัฐอเมริการะบบการจองจะสะดวกมากและสามารถทำให้เราวางแผนการเดินทางล่วงหน้า ผมเคยแม้กระทั่งจองตั๋วรถไฟไปเที่ยวบางเมืองในยุโรปกระทันหันในร้านกาแฟผ่านมือถือ แล้วก็ได้ตั๋วไปขึ้นรถไฟในอีกไม่กี่ชั่วโมง หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแผนการจองผ่านมือถือ
แอปอีกอันหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเดินทางคือ “Google Maps” แม้บางประเทศอาจมีแอปแผนที่ท้องถิ่นหรือแอปแนะนำการท่องเที่ยวเฉพาะ แต่ผมคิดว่าเราเองคงไม่คุ้นเคยกับระบบอื่นๆ นอกจากแอปที่เราใช้เป็นประจำ แต่ก็ต้องระวังในกรณีที่ไม่มีสัญญาณหรือแบตมือถือหมด หรือไปบางประเทศที่ไม่อนุญาตให้ใช้ Google เช่นจีนเราก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดโรมมิ่งเพื่อใช้งาน
การใช้ Google Maps ทำให้สามารถวางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างดี โดยเฉพาะระยะเวลาการเดินทางด้วยวิธีต่างๆ เช่น รถยนต์ รถไฟใต้ดิน มีครั้งหนึ่งเมื่อ 8 ปีก่อน ผมอยู่บรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม และต้องการเดินทางไปเที่ยวปารีสแบบเช้าไปเย็นกลับ ผมสามารถใช้ Google Maps วางแผนที่จะไปตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างดีมาก เพราะสามารถรู้เวลาที่เราควรจะขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินในแต่ละสถานีได้อย่างแม่นยำ จนสามารถไปเที่ยวที่สำคัญได้ 5 แห่งภายในหนึ่งวัน
แอปอีกกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นในการเดินทางในแต่ละประเทศคือ “แอปในการเรียกแท๊กซี่” การโหลดแอปอย่าง Uber มาใช้บนมือถือ ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ต้องไปต่อรองหรือสื่อสารกับคนขับแท๊กซี่ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ผมจำได้ว่าตอนไปรัสเซียเมื่อ 6 ปีก่อน พยายามจะขึ้นแท๊กซี่เองใช้เวลานานมากและถูกเรียกค่าโดยสารที่สูง แต่พอเรียกผ่าน Uber ปัญหาต่างๆ ก็หมดไปแทบไม่ต้องสื่อสารอะไรมาก และมีความรู้สึกปลอดภัยกว่า แต่ใครที่จะไปประเทศจีนคงต้องใช้บริการแอป Didi ที่อาจมีขั้นตอนยากกว่า คงต้องเตรียมตัวพอสมควร และอาจต้องชำระเงินผ่าน AliPay
แอปที่จำเป็นอย่างยิ่งอีกตัวคือ “แอปแปลภาษา” โดยเฉพาะการไปประเทศที่เราไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาทางการของเขา ตัวอย่างแอปหนึ่งที่ผมใช้เป็นประจำคือ Google Translator ซึ่งนอกจากให้เขาพูดแล้วแปลสดออกมาแล้ว บางครั้งก็ใช้กล้องส่องข้อความในภาษาอื่นให้แปลออกมาให้เราเข้าใจและอ่านได้ ทำให้เราสามารถสื่อสารกับเขาได้คล่องตัวขึ้นมาก ผมใช้บ่อยในการสั่งอาหารหรือซื้อของโดยเฉพาะที่ประเทศจีนและเกาหลี จำได้ว่าตอนไปที่รัสเซียในช่วงไปดูบอลโลกคิดว่าเราทันสมัยมาก แต่พอเอาเข้าจริงๆ คนรัสเซียที่ต้องมาต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่คนขับรถไปจนถึงพนักงานที่โรงแรมต่างก็ใช้โปรแกรมแปลภาษากันหมด
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ “แอปชำระเงิน” ผมเดินทางไปต่างประเทศช่วงหลังๆ ใช้เงินสดน้อยมากเพราะแม้แต่ในบ้านเราเองผมก็แทบไม่ได้ใช้เงินสด และรู้สึกปลอดภัยกว่าเมื่อไม่ต้องพกเงินสดในการเดินทางจำนวนมากนัก แต่การไปต่างประเทศคงต้องเตรียมให้ดีต้องโหลดแอปหรือเข้าใจวิธีการชำระเงินที่นั้น บางประเทศก็สามารถที่จะใช้ Google Pay หรือ Apple Pay ได้ หรือถ้าไปประเทศจีนเราก็สามารถที่จะชำระเงินโดยใช้ True Wallet ให้เป็นแบบ Alipayได้
นอกจากนี้หลายประเทศเราสามารถที่จะใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแบบ Travel Card ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมค่อนข้างต่ำ และอาจดีกว่าการแลกเงินไปจำนวนมากที่เราอาจขาดทุนได้ในกรณีที่มีการขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนและต้องมาแลกคืน
จริงๆ ยังมีแอปอีกมากมายที่จะช่วยทำให้เราเดินทางได้สะดวก ประหยัด และปลอดภัยขึ้น ซึ่งในแต่ละประเทศอาจมีไม่เหมือนกัน บางครั้งเราจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละประเทศให้ดี
สุดท้ายสิ่งที่จำเป็นในการเดินทางคืออุปกรณ์ที่ใช้งาน เราสามารถที่จะใช้มือถือเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะใช้แอปต่างๆ ได้ ตลอดจนทำการจองตั๋วในระหว่างการเดินทาง แต่เราควรที่จะทำโรมมิ่งไป และข้อสำคัญคือ ควรจะเตรียมแบตสำรองให้ดี ยิ่งถ้าเราโหลดตั๋วต่างๆ หรือ Boarding pass ลงไปในมือถือทั้งหมด ถ้าแบตหมดก็จะยุ่งยากพอควร แต่ด้วยความที่ผมใช้อุปกรณ์ไอทีหลายอย่างเวลาเดินทางจึงมีอุปกรณ์สำรองอื่นๆ ทั้ง โน๊ตบุ้คและแทปเล็ต แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งคือ ผมเก็บข้อมูลการเดินทางทั้งหมดไว้ใน “ระบบคลาวด์” ดังนั้นแม้อุปกรณ์จะสูญหาย เราก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ด้วยอุปกรณ์อื่นๆ
การใช้เทคโนโลยีในการเดินทางไม่ใช่เรื่องของความทันสมัย แต่มันคือ “ความสะดวกสบาย รวดเร็ว ประหยัด และทำให้รู้สึกปลอดภัย” ในการเดินทางยิ่งขึ้น