ผ่าแผนเทิร์นอะราวนด์ ‘เอ็นที’ ปักธงหลุดกับดัก‘ขาดทุน’สู่รายได้ยั่งยืน

ผ่าแผนเทิร์นอะราวนด์ ‘เอ็นที’ ปักธงหลุดกับดัก‘ขาดทุน’สู่รายได้ยั่งยืน

เอ็นทีตั้งเป้าว่าจะต้องมีกำไรสุทธิให้ได้ 1,000 ล้านบาท ในปี 2570 และจะพยายามจูงใจให้พนักงานเข้าโปรแกรมเออร์ลี่ รีไทร์ จากจำนวนพนักงาน 12,600 คนให้เหลือ 7,000 คน เผื่อทำให้องค์กรคล่องตัวที่สุด พร้อมโอนย้ายลูกค้ามือถือรองรับคลื่นความถี่หมดอายุลงปี 2568 จากกสทช.

KEY

POINTS

  • ปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 87,983 ล้านบาท มีรายจ่ายอยู่ที่ 89,882 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะขาดทุนราวเกือบ 2,000 ล้านบาท
  • เอ็นทีมีพนักงานมีอยู่ 12,600 คน สิ้นปีนี้น่าจะลดมาอยู่ราว 11,000 คน และในปี 2570 น่าจะถึงเป้าหมายที่ 7,000 คน พร้อมกับจะเป็นปีที่มีกำไรสุทธิเกิน 1,000 ล้านบาท

  • เอ็นทีต้องทำแผนส่งคืนคลื่นความถี่ที่ใช้อยู่คือ 850 MHz , 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2568 

  • ธุรกิจโมบายหลังคลื่นจะเหลือเพียงย่าน 700 เอ็นทีจะต้องพัฒนาการบริการให้เป็นรูปแบบไอโอทีมากขึ้น เป้าหมายลูกค้า 6 ล้านราย

ภายหลังจากที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เสนอแผนธุรกิจปีนี้เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบ ภายใต้วงเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท

ทั้งการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ การหาโอกาสจากเทคโนโลยีเอไอ และบิ๊กดาต้า เพิ่มรายได้จากบริการดิจิทัล สรรหาพันธมิตรในการธุรกิจบรอดแบนด์ และเตรียมธุรกิจโมบายสำหรับอนาคตหลังคืนคลื่นความถี่ที่จะหมดอายุในก.ย. 2568 ไปยังกสทช. ดูเหมือนหนทางของเอ็นทีเริ่มชัดเจนมากขึ้นและมีทิศทางนำพาองค์กรพลิกฟื้นขึ้นในภาวะการแข่งขันทางธุรกิจกับเอกชนที่ดุเดือด

ปูทางปี70กำไร1,000ล้านบาท

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า ผลประกอบการปี 2566 ที่รายงานงบกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถือว่าทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยมีกำไรสุทธิ 78 ล้านบาท รายได้รวม 82,034 ล้านบาท แต่หากรวมงบประมาณสำหรับเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) จะขาดทุน 2,200 ล้านบาท แต่ดีกว่าที่คาดว่าจะขาดทุน 4,000 ล้านบาท

ส่วนประมาณการณ์ปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 87,983 ล้านบาท มีรายจ่ายอยู่ที่ 89,882 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะขาดทุนราวเกือบ 2,000 ล้านบาท

โดยรายได้ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 8,965 ล้านบาท , กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ 2,190 ล้านบาท,กลุ่มโมบายล์ 47,889 ล้านบาท ,กลุ่มโทรศัพท์พื้นฐานและบรอดแบนด์ 18,673 ล้านบาท ,กลุ่มดิจิทัล 4,303 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 5,960 ล้านบาท โดยเฉพาะเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มีรายได้แล้ว 1,770 ล้านบาท แต่ต้องยังเป็นรายได้จากทรูและเอไอเอสที่เป็นสัญญาสัมปทานร่วมกันในการเช่าเสาและทำตลาดมือถือกว่า 47% 

“ต้นทุนของเรายังต้องยอมรับว่ามีพนักงานอยู่เยอะที่ผ่านมาก็มีโปรแกรมเออร์ลี่ รีไทร์อยู่ตลอด เพราะเราแบกตัวทุนค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่มีเงินเดือนสูง และอาจจะไม่สอดคล้องกับงานที่ทำ ส่วนพนักงานมีอายุเฉลี่ย 51 ปี ซึ่งตอนนี้พนักงานมีอยู่ 12,600 คน และมีเอ้าท์ซอร์สอีก 5,000 คน แต่สิ้นปีนี้พนักงานน่าจะลดมาอยู่ราว 11,000 คน และในปี 2570 น่าจะถึงเป้าหมายที่ 7,000 คน พร้อมกับจะเป็นปีที่มีกำไรสุทธิเกิน 1,000 ล้านบาทด้วย“

เตรียมแผนไมเกรทลูกค้ามือถือ

เขา กล่าวว่า ขณะนี้เอ็นทีกำลังร่างแผนงานโอนย้ายลูกค้ามือถือที่ใช้บริการ My ของเอ็นทีจำนวน 1.7 ล้านราย หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะเตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม และขอให้เอ็นทีทำแผนส่งคืนคลื่นความถี่ที่ใช้อยู่คือ 850 MHz , 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2568

ซึ่งสิ่งที่เอ็นทีต้องทำแผนคลื่นความถี่ของเอ็นทีให้ชัดเจนว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างไร และต้องส่งกลับมาให้กสทช. เพื่อให้กสทช.ดำเนินการประมูลคลื่นดังกล่าวก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แต่ในการโอนย้ายลูกค้านั้นจะคิดแค่ลูกค้า My ไม่ได้เพราะใน 3 ย่านความถี่ดังกล่าวมีลูกค้าของทรู ดีแทค และเอไอเอสด้วย ดังนั้น ในแผนต้องรอบคอบอย่างมากเพื่อไม่ให้กระทบหากคลื่นหมดอายุ ซึ่งในเดือนส.ค.นี้ต้องส่งแผนล่วงหน้า 1 ปี ก่อนสัมปทานจะสิ้นสุด แต่หากไม่ทันจริงๆคงต้องส่งหนังสือไปยังกสทช.ขอต่ออายุออกไป 6 เดือน

เขา กล่าวว่า เมื่อไม่มีคลื่นความถี่ดังกล่าว และเหลือเพียงคลื่น 700 MHz จำนวน 5 MHz ที่ได้จากการประมูลเท่านั้น เอ็นทีจะต้องพัฒนาการบริการให้เป็นรูปแบบไอโอทีมากขึ้น โดยขณะนี้ได้ขยายโครงข่าย (Roll out) ไปแล้วกว่า 50% และสิ้นปีนี้จะมีโครงข่ายในย่าน 700 MHz จำนวน 9,800 สถานีฐาน เป้าหมายลูกค้า 6 ล้านราย

ฟื้นอสังหาฯที่ดินสู่ขุมทรัยพ์ใหม่

สำหรับแผนในการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ นอกจากแผนการพัฒนาพื้นที่ให้เช่าแล้ว บริษัทยังมีแผนพัฒนาที่ดิน 2 แห่ง จาก 5-6 แห่ง ในกรุงเทพฯและปริมณฑล สู่ดาต้า เซ็นเตอร์เพื่อให้บริการคลาวด์ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทต่างชาติสนใจอยู่ 4-5 บริษัท เนื่องจากดาต้า เซ็นเตอร์ 2 แห่ง ของเอ็นที ทั้งที่ บางรัก และ นนทบุรี ใกล้เต็มแล้ว จะใช้ได้อีกเพียง 2 ปี ขณะที่การสร้างดาต้า เซ็นเตอร์แห่งใหม่ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี 8 เดือน ดังนั้นจึงต้องเร่งหาข้อสรุป เบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนประมาณ 500-1,000 แรค

สำหรับบริการรัฐบาลดิจิทัล ปีนี้จะเริ่มเห็นการให้บริการแพลตฟอร์มภาครัฐที่เอ็นทีทำ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานฉุกเฉินทางการแพทย์ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 16 แห่ง ที่เอ็นทีให้บริการฟรีและใกล้ครบกำหนดแล้ว คาดว่าจะกลายมาเป็นลูกค้าต่อไป ส่วนแผนการตั้งบริษัทลูกร่วมกับพันธมิตร มั่นใจว่าปีนี้จะมีประมาณ 2-3 บริษัท 

โดยแนวคิดคือ บริษัทที่ปกติต้องจ้างบริษัทนอกมาดูแลอยู่แล้ว เปลี่ยนเป็นตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรที่สนใจ เพื่อรับทั้งงานในบริษัทแม่และสามารถรับงานบริษัทอื่นๆได้ด้วย

หาพาร์ตเนอร์เน็ตบ้านอุดเลือดไหล

พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวถึงธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดยยอมรับว่าบรอดแบนด์เป็นธุรกิจที่ขาดทุนมาโดยตลอด ประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่แม้ว่าเอ็นทีจะมีความสามารถในการให้บริการ 2,400 กิโลเมตรท่อ มีพนักงานให้บริการกว่า 2,000-3,000 คน แต่ก็ไม่สามารถแข่งขันด้านการตลาดกับเอกชนได้ ทั้งเรื่องราคา โปรโมชั่น และการบริการ 

ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการหาพันธมิตรเพื่อมาทำงานร่วมกับเอ็นที โดยอาจนำร่องหาพันธมิตรทำบรอดแบนด์ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลก่อน เพราะแม้ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีความพร้อมด้านโครงข่ายอย่างมาก แต่สัดส่วนลูกค้าและรายได้น้อยกว่าตลาดอื่นๆ ซึ่งยอมรับว่าส่วนหนึ่งเพราะเอกชนแข่งขันด้านราคาอย่างมาก