เก้าอี้ประธาน กสทช.ระทึก! กมธ.เอาจริงส่งเรื่องร้อง ‘สรณ’ ส่อขาดคุณสมบัติ
"ประวิทย์" จี้ สนง.รับผิดชอบถอดเรื่องประธาน กสทช.โดยพลการ ชี้ ‘กฤษฎีกา’ ควรต้องให้ความเห็นว่ามีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ระบุถูกทาบทามเป็นบอร์ดแบงก์กรุงเทพถือว่าสมบูรณ์แล้ว พ่วงการรักษาคนไข้ที่ รพ.รัฐ หากไม่ได้รับเงินเดือนสามารถใช้พื้นที่ทำหัตถการได้หรือ
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และอดีตที่ปรึกษาประจำ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวถึง กรณีที่กรรมาธิการโทรคมนาคมฯ วุฒิสภา กำลังพิจารณาคุณสมบัติประธาน กสทช. ว่านพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 7 (12) และกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน ตามมาตรา 8 และมาตรา 18
รวมทั้ง ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่าสับสนว่าสถานะของนพ.สรณ ขณะนี้ว่าดำรงตำแหน่งเป็นประธาน กสทช.เพียงอย่างเดียวหรือไม่ นพ.สรณไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระของธนาคารกรุงเทพ และเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลรามาธิบดีในกรณีขอเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยหรือไม่
เนื่องจากในประเด็นดังกล่าวต้องย้อนไปที่คุณสมบัติของผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ กสทช.ควบคู่ไปกับลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เพราะการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ กสทช.ต้องทำงานเต็มเวลา โดยไม่เป็นลูกจ้างที่อื่น เพราะก่อนหน้านี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เคย ให้ความเห็นในเรื่องนี้ เพราะบอร์ด กสทช. รับเงินเดือนสูงกว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียอีก
นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในประเด็นนี้ก็ยังคงค้างคาในด้านการตีความของกฎหมาย เพราะมติการประชุมบอร์ดครั้งแรกปลายเดือนเม.ย.2565 ทันทีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ นพ.สรณ ก็แสดงท่าทีกังวลใจเกี่ยวกับการมีชื่อเป็นกรรมการอิสระของธนาคารกรุงเทพ ดังนั้น ที่ประชุมฯ จึงมีมติให้สำนักงาน กสทช. ส่งเรื่องไปสอบถามยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ล่าสุดมีรายงานปรากฏว่า ทางสำนักงาน กสทช.ได้ไปถอนเรื่องนี้ออกจากสำนักงานกฤษฎีกา ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับอำนาจจากบอร์ดแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามที่ นพ.สรณ เคยให้ข่าวต่อสื่อมวลชน คือ มีการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระธนาคารกรุงเทพ และมีการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 12 เม.ย.2565 ก่อนการโปรดเกล้าฯ เพียง 1 วัน เท่ากับว่า นพ.สรณ เป็นกรรมการ กสทช.ในวันที่ 13 เม.ย.2565 ในทันที แต่เจ้าตัวเองก็ระบุมาตลอดว่าการเป็นกรรมการอิสระที่ธนาคารกรุงเทพเป็นเพียงแค่การทาบทามเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้วการทาบทาม ไปจนถึงมีการตอบรับ จนบรรจุรายชื่อเพื่อจะเป็นกรรมการอิสระแล้วนำเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นมันก็คือ การตอบตกลงที่จะไปเป็นกรรมการแล้ว ซึ่งมันจะเกี่ยวพันกับกฎหมายมหาชน และ กฎหมายแพ่ง
ดังนั้น ตามหลักการนี้คือ เจ้าตัวแสดงเจตนารมณ์ในการยอมรับการทาบทามตั้งแต่ต้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็อนุมัติให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งดังกล่าวแล้วเท่ากับว่าที่ประชุมมีการลงมติยอมรับเท่ากับนิติกรรม และสมบูรณ์แล้ว แม้ยังไม่ได้จดแจ้งทำนิติกรรมต่อหน่วยงานราชการอย่างสมบูรณ์
"นพ.สรณ ยืนยันว่าตลอดว่าคือ การทาบทามด้วยวาจาเท่านั้น แต่การตีพิมพ์หนังสือให้มาประชุมผู้ถือหุ้นก็เท่ากับว่าต้องมีการตอบตกลงแล้ว แต่การตีความของนพ.สรณ เองระบุว่า แม้มีการตอบตกลงแล้วแต่ยังมีการจดแจ้ง การทำนิติกรรมก็เท่ากับไม่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงเป็นที่มาที่จะส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาในการตีความ แต่ทำไมสำนักงาน กสทช. ถึงไปถอนเรื่องออกทั้งที่ถือเป็นประเด็นปัญหา"
นพ.ประวิทย์ ให้ความเห็นว่า ประเด็นเรื่องการยังทำหน้าที่แพทย์รักษาผู้ป่วย ที่ กมธ.ฯ ตรวจสอบถือว่าน่าสนใจ ตนขอตั้งสมมติฐานด้วยตัวเอง ทั้งการหาคำตอบของการรับเงินเดือนค่าตอบแทนจากการรักษาคนไข้อันนี้ก็ต้องพิสูจน์กันต่อ
ต่อมาอยากให้มองว่าหากอยู่ดีๆ การที่แพทย์คนหนึ่งจะเดินเข้าไปในโรงพยาบาล เพื่อไปรักษาคนไข้มันสามารถทำได้หรือไม่ ผู้บริหารโรงพยาบาล หรือผู้ที่เกี่ยวข้องยอมให้บุคคลภายนอกเข้าไปรักษาผู้ป่วยได้จริงหรือ หากแพทย์คนนั้นไม่ใช่ลูกจ้างของโรงพยาบาล
“เข้าใจว่า กมธ.ได้ส่งหนังสือไปสอบถามความจริงกับทางรพ.รามาฯ ก็ไม่ได้คำตอบ การที่อ้างว่าตัวเองเป็นหมอต้องการรักษาชีวิตคนไข้แต่ไม่รับเงินทำงาน หลักฐานที่จะมัดตัวได้คือ ภงด.สรรพากร อ้างว่าไปตรวจคนเพื่อช่วยเหลือคนเพื่อรับผลตอบแทนซ้อนหรือไม่ ซึ่งโดยปกติหมอจะไม่มีสิทธิเดินเข้าไปรักษาได้ ซึ่งต้องมีคำสั่งจากทาง รพ.รามาฯ ในการอนุญาตให้ตรวจรักษา"
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช.เอง ที่รักษาการมาจนปัจจุบันเกือบ 4 ปีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ วุฒิสภาเห็นว่า จะเกิดความเสียหายต่อประเทศ และประชาชน หลายโครงการเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งศึกษาพบสาเหตุความล่าช้า เพราะมีการตีความตามกฎหมายต่างกัน
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า นพ.สรณ ประธาน กสทช. ได้ออกประกาศ ของประธานเพื่อคัดเลือกเลขาธิการ กสทช.เอง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่เลขานุการของประธาน แต่เป็นเลขาองค์กร ต้องทำงานรับใช้องค์กร เมื่อประธานประกาศ และคัดเลือกเองเฉพาะตัวประธานก็ใช้เวลา 1 ปี 9 เดือนกว่าจะมาเสนอกรรมการในที่ประชุม แต่ไม่ได้ให้ความเห็นชอบเพราะกรรมการไม่กล้ารับรอง จึงเกิดความล่าช้า
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์