สกมช.ร่ายแผนงานป้องภัยไซเบอร์ ระบุปี'68 ถูกท้าทายจากภัยด้าน AI
สกมช.เตรียม พร้อมยกระดับขีดความสามารถบุคลากร ผลักดันการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทย คาดปีหน้า AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า ในปี 2568 สกมช. มีแผนการดำเนินงานที่ท้าทายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ในการขยายความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีแนวโน้มซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น
รวมถึงการระมัดระวังการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้ในการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมทั้งยังมีภัยที่แฝงเข้ามาในลักษณะ AI ด้วย นอกจากนี้ สกมช.จะเร่งแผนงานด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอนาคต พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้และความตระหนักรู้ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประชาชนทุกช่วงวัยให้สามารถใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สกมช. ได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เข้มแข็งและปลอดภัย ภายใต้การขับเคลื่อนนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565 - 2570) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ (บุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี) การบูรณาการความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือทางไซเบอร์ รวมถึงสร้างบริการภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัย
เขา กล่าวว่า สกมช.ยังได้จัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 41 ฉบับ เพื่อส่งเสริมมาตรการการป้องกันและจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงการจัดตั้ง Thailand Computer Emergency Response Team – ThaiCERT หรือ ไทยเซิร์ท ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยง ติดตาม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการแจ้งเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
ซึ่งที่ผ่านมาช่วยให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองและจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีสถิติการปฏิบัติในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในห้วงวันที่ 1 ต.ค. 2564 - 28 พ.ค. 2567 รวมทั้งสิ้น 3,610 เหตุการณ์
สำหรับการการพัฒนาบุคลากรทางด้านความปลอดภัยไซเบอร์ถือเป็นปัญหาสำคัญเพราะต้องยอมรับว่าไทยขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ ดังนั้น สกมช.ได้จัดโครงการฝึกอบรมและการศึกษาเชิงลึก อาทิ โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 1มีผู้เข้าอบรมจำนวน 4,169 คน สอบผ่านได้รับประกาศนียบัตรสากลในโครงการ ดังนี้1) EC-Council: ECSS จำนวน 858 คน 2) CompTIA Security+/ CySA+/ Pentest+/ Linux+/ Cloud+/ Project+ จำนวน 423 คน และ3) (ISC)2: CISSP จำนวน 70 คนนอกจากนี้ยังมีหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับผู้บริหาร Executive CISO, cyber clinic,
พล.อ.ต.อมร เสริมว่า ในปี 2567 สกมช. มีแผนพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ 10,000 คน เพื่อมาเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลความมั่นคงไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐ โครงการนี้จะมุ่งไปที่สถาบันการศึกษา โดยจะร่วมกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ มากกว่า 20 แห่ง สกมช. จะลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึง กระทรวงแรงงาน และบริษัทด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ นอกจากพัฒนาบุคคลากรที่จับด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้แล้วเพื่อให้ทันกับความต้องการ จะทำงานร่วมกับบัณฑิตจบใหม่ ที่ต้องการเพิ่มทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และหันมาเติบโตในสายงานนี้ เพราะเรายังกำลังขาดแคลนจำนวนมาก
“ตลอด3 ปีที่ผ่านมาเราพยายามสร้างความตระหนักรู้ในความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับ นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง คนพิการ ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป อาทิ Cybersecurity Knowledge Sharing มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 96,196 คน”
ทั้งนี้ ล่าสุดสกมช.โดยศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN Japan Cybersecurity Capacity Building Centre : AJCCBC) ร่วมพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการบริหารจัดการและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ โดยเปิดศูนย์ฝึกอบรมให้กับ 10 ชาติในอาเซียน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาคด้วย