AWS ลงทุน 1.9 แสนล้านบาท เปิด Region ในไทย เริ่มให้บริการต้นปี 68

AWS ลงทุน 1.9 แสนล้านบาท เปิด Region ในไทย เริ่มให้บริการต้นปี 68

AWS ประกาศลงทุน 1.9 แสนล้านบาท สร้าง AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในไทย เริ่มให้บริการต้นปี 2568 พร้อมทั้งเปิดอบรมบุคลากรให้มีทักษะด้านคลาวด์-เอไอ 1 แสนคน ภายในปี 2569

ไทยคลื่นลูกใหม่ธุรกิจคลาวด์ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) ประกาศสร้าง AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ ราว 1.9 แสนล้านบาท จนถึงปี 2580

โดยมีกำหนดเปิดให้บริการช่วงต้นปี 2568 เป้าหมายก็เพื่อรองรับนักพัฒนา สตาร์ตอัป ผู้ประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร ให้เลือกใช้บริการคลาวด์ในศูนย์ข้อมูลที่ตั้งในประเทศไทย

AWS Region ใหม่มาจากโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมของ Amazon CloudFront edge ที่มีอยู่ 10 แห่งในไทย รวมทั้ง AWS Outposts และ AWS Local Zone 

โดย Region ในไทยถือเป็นแห่งที่สี่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567 นี้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเก็บข้อมูลของตนไว้ในประเทศไทย ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดความหน่วงของการรับส่งข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ AWS ยังประกาศดำเนินงานต่อเนื่องในโครงการฝึกอบรมบุคลาการให้มีทักษะด้านคลาวด์ ซึ่งเริ่มในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2560 เป้าหมายคือ 1 แสนคน ภายในปี 2569

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส ประจำประเทศไทยของ AWS กล่าวว่า “ลูกค้าของเราในประเทศไทย เช่น บางกอกแอร์เวย์ส, บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC), และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ใช้งานบนระบบคลาวด์ที่ครอบคลุมของ AWS เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพ และส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

AWS Thailand Region ภายในต้นปี 2568 นี้ จะยิ่งช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีภายในภูมิภาค โดยเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมอนาคตที่รุ่งเรืองสำหรับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ของเราทุกราย”

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี Generative AI กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากของประชาชนทั่วไป AWS Thailand Region จะช่วยให้ผู้ใช้งานเหล่านี้ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI หรือ ML มาประยุกต์ใช้ได้อย่างง่ายดาย

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงทุนเพื่อสร้าง AWS Thailand Region จะช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพิ่มโอกาส และความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งยังส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ ผู้ประกอบการ และสตาร์ตอัปไทยนับพันราย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของนโยบาย Cloud First ที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชีย

“รัฐบาลพร้อมร่วมมือกับ AWS เพื่อดึงศักยภาพและสร้างประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาครั้งนี้ไปสู่ประชาชนชาวไทยทุกคน ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญ ผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัล”

เพิ่มทักษะด้านคลาวด์และดิจิทัลในไทย

วัตสัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนทักษะด้านเอไอในบุคลากรไทย โดย 64% ของนายจ้างในประเทศไทยระบุว่าไม่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะเอไอตามที่ต้องการได้

ข้อมูลนี้มาจากการศึกษาในหัวข้อ “การยกระดับทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI): การเตรียมความพร้อมบุคลากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสู่งานแห่งอนาคต” เป็นการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลด้านเอไอ โดย Access Partnership และ AWS ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะเอไอทั้งสำหรับนายจ้างและบุคลากรในประเทศไทย

AWS มุ่งมั่นที่จะฝึกอบรมคนไทย โดยได้ฝึกอบรมบุคลากรมาแล้วกว่า 50,000 คนในประเทศไทยด้วยทักษะด้านคลาวด์ตั้งแต่ปี 2560 และจะฝึกอบรมให้ถึง 100,000 คนภายในปี 2569

ทั้งนี้ AWS ได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MHESI), และองค์กรชั้นนำต่างๆ ในภาคเอกชนเช่น CPF และกลุ่มเซ็นทรัล ไปจนถึงโปรแกรมฝึกอบรมและการรับรองมาตรฐานของ AWS อีกมากมาย

เดือนพ.ย. 2566 บริษัท Amazon ได้เปิดตัวโครงการ AI Ready เพื่อฝึกอบรมทักษะด้านคลาวด์ให้กับผู้คนจำนวน 29 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2568 โครงการฯ นำเสนอหลักสูตรฝึกอบรมด้าน Generative AI แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังคัดสรรหลักสูตรที่เหมาะกับผู้เรียนไม่ว่าจะต้องการเน้นทักษะเทคนิคเฉพาะทางหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสอัปสกิลทักษะด้านเอไอได้ในแบบที่ต้องการ

ปัจจุบัน AWS Academy ยังช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาเข้าถึงหลักสูตรด้านคลาวด์ที่พร้อมสอนฟรี ซึ่งเตรียมความพร้อมให้นักเรียนสามารถสอบเพื่อรับใบรับรองที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมและสายงานคลาวด์ที่เป็นที่ต้องการ ซึ่งมีนักศึกษาจาก 26 สถาบันในประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น ที่เข้าอบรมตามหลักสูตร

นอกจากนี้ AWS ยังได้เปิดตัวโปรแกรมฝึกอบรมและการรับรองมาตรฐานอื่นๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นและช่วยให้ประสบความสำเร็จในสายงานด้านดิจิทัลได้ เช่น AWS Skill Builder ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลที่มีหลักสูตรออนไลน์ด้านทักษะคลาวด์ฟรีมากกว่า 600 หลักสูตร รวมถึง 62 หลักสูตรที่เป็นภาษาไทย และยังมีศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์ใหม่ที่ช่วยให้สามารถสร้างทักษะด้าน AWS Cloud ได้ง่ายขึ้น