กสทช. 4 คน ยันไม่ได้กลั่นแกล้ง'ไตรรัตน์' ลุยงานตามเดิมแม้ศาลประทับรับฟ้อง
ชี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเพียงรับคำฟ้องแต่ไม่ได้ตัดสิน ส่วนการมีมติให้ 'ไตรรัตน์' พ้นตำแหน่งรักษาการ เลขาธิการ กสทช. เป็นการชั่วคราว เพื่อความโปร่งใสระหว่างการสอบสวนกรณีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ซึ่งมีการทำผิดเงื่อนไข MOU
จากการที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งประทับรับฟ้อง คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อคณะกรรมการ กสทช. กับพวกรวม 5 คน
ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นางสาวพิรงรอง รามสูต นายศุภัช ศุภชลาศัย นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ เป็นจำเลย
ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 โดยกล่าวหานายไตรรัตน์เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
และดำเนินการให้มีการเปลี่ยนรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แทนนายไตรรัตน์โดยมิชอบนั้น กสทช.ทั้ง 4 คน ยืนยันว่าไม่เคยมีเจตนากลั่นแกล้ง โดยปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการเพื่อประโยชน์สาธารณะและการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากบอร์ดกสทช. เผยว่า แม้ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ จะมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 และส่งผลให้บอร์ดกสทช. มีสถานะเป็นจำเลยในคดี แต่กรณีดังกล่าวไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร กสทช. ในภาพรวม เนื่องจากกรรมการ กสทช. 4 คน ยังมิใช่ผู้กระทำผิด
ดังนั้น จึงยังคงมีคุณสมบัติการเป็นกรรมการ กสทช. และสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้ตามปกติ และไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร กสทช. ในภาพรวม ซึ่ง กสทช. ทั้ง 4 คนยังมีภารกิจที่ต้องทำเพื่อสาธารณะอีกมาก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นของการฟ้องคดีมาจากมติบอร์ดก่อนหน้า ซึ่งที่ประชุมบอร์ด กสทช. จำนวน 6 คน มีมติเอกฉันท์ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) คืนเงินจากจำนวน 600 ล้านบาทที่บอร์ดเสียงข้างมากมีมติสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 2022
หลังจากเกิดปัญหา "จอดำ" กับกลุ่มผู้ชมโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (IPTV) เนื่องจากทาง กกท. ไม่ทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง กสทช. และ กกท. ที่ระบุชัดว่า ผู้รับใบอนุญาตภายใต้ กสทช.ต้องปฎิบัติตามแนวทางการดูแลการถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ให้เป็นไปตามกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) และมัสต์แคร์รี่ (Must Carry) ตามข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงฯ ที่กำหนดให้ กกท.ต้องบริหารจัดการสิทธิให้ผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช.สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 รอบสุดท้าย ได้ตามประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
รวมทั้งต้องดำเนินการให้ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทุกราย ดำเนินการออกอากาศรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 รอบสุดท้ายให้สมาชิกสามารถได้รับบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปได้โดยตรงอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่แต่งตั้งโดยประธาน กสทช.
ให้ความเห็นว่า “นายไตรรัตน์ฯ รักษาการเลขาธิการ กสทช. “อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศ หลักเกณฑ์ มติ กสทช.
และบันทึกข้อตกลง” เนื่องจากมีการกระทำที่ก่อให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการสิทธิการถ่ายทอดสดรายการฟุตบอลโลกฯ ที่ กกท. ได้มอบสิทธิให้กลุ่มทรูฯ แบบ Exclusive Right ผ่านระบบเคเบิ้ล ระบบดาวเทียม ระบบไอพีทีวี ระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎ Must Carry และเงื่อนไขใบอนุญาตที่ กสทช. กำหนด และกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย ส่งผลให้ประชาชนโดยทั่วไป และคนด้อยโอกาส เสียโอกาสในการรับชม กสทช. และกรณีดังกล่าว กสทช. ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. เรียกเงินสนับสนุนคืนจาก กกท. ตามผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงด้วย
ทั้งนี้ ตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2565 กำหนดให้การตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ให้เลขาธิการ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้ง และตามข้อ 5 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า “ในกรณีที่ระเบียบนี้มิได้กำหนดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในเรื่องใดไว้ ให้เลขาธิการ กสทช. เสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาด”
ซึ่งการที่ผู้ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่ากระทำผิดวินัยกับผู้ที่มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสอบวินัยเป็นคนเดียวกัน จะทำให้เกิดข้อสงสัยของสาธารณะถึงความโปร่งใส และความเป็นกลางขององค์กร กสทช. จึงมติให้นายไตรรัตน์ฯ พ้นตำแหน่งรักษาการ เลขาธิการ กสทช. เป็นการชั่วคราวจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งนายไตรรัตน์ แต่อย่างใด