‘เทคโนโลยีรักษ์โลก’ ที่ทุกคนเข้าถึงได้

‘เทคโนโลยีรักษ์โลก’ ที่ทุกคนเข้าถึงได้

หลายคนคงคิดเหมือนผมว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เราเผชิญกันทุกวันนี้ จะสิ้นสุดลงที่ตรงไหน และคนรุ่นหลังเราจะอยู่กันอย่างไร ถ้าทุกวันนี้อากาศที่เราหายใจมีแต่มลพิษ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน สิ่งเหล่านี้แทบจะไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนไทยส่วนใหญ่เลย

จนไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่โลกของเราดูจะเกิดความโกลาหลไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพอากาศแปรปรวนจนเครื่องบินถึงขั้นตกหลุมอากาศรุนแรง คลื่นความร้อนสูงจนทำให้คนเป็นฮีทสโตรค และปัญหาฝุ่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนจำนวนมาก นั่นจึงทำให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

แน่นอนว่าแม้หลายคนอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยโลกของเรา แต่การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจจะต้องแลกมาด้วยความลำบากหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่เข้ามาช่วยให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ผมจะขอยกตัวอย่างเทคโนโลยีที่น่าสนใจที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษ์โลกของเราได้

เริ่มกันที่เทคโนโลยีที่ช่วยให้คนเข้าถึงการจัดการขยะ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคหันมาคัดแยกขยะ และสร้างมูลค่าจากขยะของตัวเอง อย่างแอปพลิเคชัน Green2Get, Waste Buy Delivery และ Recycle Day โดยแอปฯ เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้ผู้บริโภคนำขยะ ที่คัดแยกแล้วมาขายให้กับร้านค้าที่จะมารับซื้อถึงหน้าบ้าน หรือสามารถนำขยะไปส่งที่จุด Drop-Off และร้านรับซื้อขยะใกล้บ้านตามข้อมูลบนแอปฯ

นอกจากผู้บริโภคจะได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนแล้ว แอปฯ เหล่านี้ยังมีการแจกพ้อยท์ให้นำไปแลกของรางวัลต่างๆ ได้ด้วย ต่อมาด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยลดขยะอาหาร อย่าง แอปพลิเคชัน Olio ที่เริ่มต้นจากการเปิดพื้นที่ให้คนสามารถนำอาหารหรือวัตถุดิบที่ทานไม่หมดมาแจกจ่ายให้ผู้คนในอยู่ในระแวกบ้านสามารถมารับก่อนที่มันจะกลายเป็นขยะอาหาร (Food Waste) ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุของการสร้างก๊าซเรือนกระจก

หรือ แอปพลิเคชัน Too Good To Go ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุโรปและอเมริกา โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถกดจอง Surprise Bag จากร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตที่จะนำอาหาร และวัตถุดิบที่มักจะขายไม่หมด และถูกทิ้งในแต่ละวันมาขายในราคาพิเศษ และมารับได้ก่อนเวลาปิดร้าน

สุดท้ายเทคโนโลยีที่ช่วยผู้บริโภคลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทาง อย่างการใช้แพลตฟอร์มเรียกรถ เช่น แกร็บที่ทำให้รถรับจ้างไม่ต้องไปขับวนหาผู้โดยสาร บวกกับเทคโนโลยีแผนที่ที่ใช้ AI มาช่วยประมวลข้อมูล และคำนวณเส้นทาง ทำให้สามารถประหยัดพลังงาน และลดมลพิษที่เกิดบนท้องถนนไปได้มาก

นอกเหนือจากการช่วยลดการคาร์บอนแล้ว แกร็บ ยังได้เปิดฟีเจอร์ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ของแกร็บ ที่ให้ผู้ใช้บริการสามารถบริจาคเงิน 2 บาททุกครั้งที่เดินทาง หรือ 1 บาททุกครั้งที่สั่งอาหาร เพื่อนำไปชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากยานพาหนะที่ให้บริการ

หลังจากที่เรานำเงินบางส่วนไปซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อหักลบคาร์บอน ที่เกิดระหว่างการเดินทางแล้ว เราจะนำเงินส่วนที่เหลือมาร่วมปลูกต้นไม้กับแพลตฟอร์มติดตามการปลูกต้นไม้ EcoMatcher ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนร่วมกับ GPS ในการระบุพิกัดต้นไม้ โดยผู้บริจาคสามารถเข้าไปดูได้ตั้งแต่ข้อมูลปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้สามา รถช่วยเก็บกักได้ ไปจนถึงข้อมูลเกี่ยวกับชาวสวนที่ปลูกต้นไม้ และภาพบรรยากาศรอบๆ แบบ 3D

พร้อมฟังเสียงสถานที่ที่เราปลูกต้นไม้ได้อีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมาเราสามารถนำเงินบริจาคไปปลูกต้นไม้ได้มากกว่า 280,000 ต้นร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั่วภูมิภาคอาเซียนเลยทีเดียว

ถึงแม้เราจะมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุด คือการใช้ชีวิตอย่างมีจิตสำนึกรักษ์โลก และคำนึงถึงผลกระทบของการกระทำของเราที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่คนๆ เดียวจะแก้ไขได้ แต่ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจจากทุกคนบนโลกใบนี้