'ดีป้า' อ้อนรัฐเร่งสะท้อน 3 ข้อเรียกร้อง ช่วยผู้ประกอบการดันอุตฯดิจิทัลไทย

'ดีป้า' อ้อนรัฐเร่งสะท้อน 3 ข้อเรียกร้อง ช่วยผู้ประกอบการดันอุตฯดิจิทัลไทย

ดีป้าเผยเหล่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล หลังผู้ประกอบการเฮรับความหวังการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่ต้องโอดเรื่องความล่าช้าในการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล แนะรัฐเร่งไขก๊อกเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 1 ประจำปี 2567 ที่ดำเนินการสำรวจโดย ดีป้า อยู่ที่ระดับ 54.1 ปรับตัวขึ้นจากระดับ 53.0 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566

โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เพิ่มขึ้นคือ ปัจจัยด้านคำสั่งซื้อฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้เหล่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลมีความหวังที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลที่มีผลมาจากการผลิตคนภายในประเทศที่ไม่เพียงพอ ไม่ทัน และไม่ตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

บรรดาผู้ประกอบการต่างแนะนำให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลเพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก โดยการดึงดูดกำลังคนดิจิทัลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสาขาที่ขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยผ่าน Global Digital Talent Visa

นอกจากนี้ ยังจัดทำแนวทางการผลิตและการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อสนองตอบความต้องการภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงทักษะที่จำเป็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ประชาชนไทยในทุกช่วงวัย การผลักดันให้เกิดการนำความรู้และทักษะที่ได้ไปต่อยอดอาชีพใหม่แห่งโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็น Digital Influencer, Digital Artist ฯลฯ และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลขั้นสูง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นเจ้าของอย่าง Foundation Model หรือ Global Generative AI ที่ได้รับการพัฒนาจากบริษัทระดับโลก

"ก่อนอื่นคนไทยต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานภาพของประเทศ ผู้ประกอบการในประเทศมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นคงเป็นไปได้ยากที่จะเข้าไปแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีทุนมหาศาล แต่อาจสร้างความร่วมมือในการทำงานให้เกิดขึ้นได้"

โดย AI, Cloud และ Big Data ต้องมาพร้อมกัน ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดล้วนมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ช่วยทำให้ GDP เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผลิตภาพ (Productivity) สูงขึ้น แต่ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ซึ่ง ดีป้า กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับกำลังคนดิจิทัลของประเทศ รวมถึงการเร่งจัดทำกฎหมายและแนวทาง (Law & Guidelines) เกี่ยวกับ AI ประกอบด้วย Generative AI, Algorithm AI, Responsible AI และ Ethical AI เพื่อให้ผู้ประกอบไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

ณัฐพล กล่าวต่อว่า ประเทศไทยต้องเร่งให้เกิดการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ รวมถึงคลาวด์  เนื่องจากทั้งสองศูนย์ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ พร้อมกันนี้ ไทยต้องสร้างดาต้า ให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยว บริการสาธารณสุข การเงิน และการให้บริการภาครัฐ รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันใน Sectoral Model, AI Specific Model และ AI Hyperlocal Model ก่อนส่งต่อให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐใช้ในที่สุด โดยมีเหล่าดิจิทัลสตาร์ทอัพเป็นผู้ให้บริการ

และสุดท้าย ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Digital Technology) มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการคาดหวังการส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อรองรับการแข่งขันแห่งโลกอนาคต โดย ดีป้า มุ่งหวังที่จะสะท้อนความต้องการและข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ