จับตา ! พรุ่งนี้ บอร์ดกสทช. เคาะวงเงินสนับสนุนโอลิมปิก 435 ล้านบาท

จับตา ! พรุ่งนี้ บอร์ดกสทช. เคาะวงเงินสนับสนุนโอลิมปิก 435 ล้านบาท

ลุ้นวาระประชุมบอร์ด กสทช.พรุ่งนี้ วาระกกท. ขอเงินสนับสนุนถ่ายทอดสดซื้อโอลิมปิก ปารีส 2024 วงในเผย มติมีสิทธิ์ 'ปัดตก' เหตุมีเอกชนไทยรายใหญ่ซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว ทำไมต้องมาของบจากกองทุนกทปส.อีก

รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ครั้งที่ 15/2567 ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ได้มีวาระพิจารณาเรื่อง การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หลังจากที่ได้มีการพิจารณาในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ที่ประชุมบอร์ด ยังไม่ได้ข้อยุติ และมีการถกกันอย่างดุเดือด

ทั้งนี้ ในการขอรับการสนับสนุนเงินการถ่ายทอดสดครั้งนี้ ในช่วงแรกกกท.ได้ขอรับการสนับสนุนในครั้งแรก 800 ล้านบาท ต่อมาได้ลดวงเงินเหลือ 435 ล้านบาท

ทำให้บอร์ดบางคนมีความสงสัยถึงวงเงินที่ลดลง ซึ่งทาง กกท. ได้ชี้แจงว่า จากการเจรจากับเอกชนในหลายภาคส่วนรวมถึงช่องทีวีเห็นว่าจะสามารถออกเงินได้ส่วนหนึ่ง และขอให้ภาครัฐ สนับสนุนเหลือวงเงิน  435 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ของ กกท.ขาดสภาพคล่อง มีงบประมาณไม่เพียงพอ

แหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าวว่า  ในการขอรับการสนับสนุนเงินถ่ายทอดสดครั้งนี้ทาง กกท. ยังให้ข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วน และมีข่าวว่ามีเอกชนบางรายไปได้ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว แต่ทำไมถึงมาขอเงินสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กองทุน กทปส.) อีก ซี่งเอกชนที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้ว ควรจะนำสิทธิไปบริหารด้านการตลาดจัดหารายได้เอง แต่ก็ต้องดำเนินการตามกฎ Must Have ที่ต้องนำมาถ่ายทอดสดออกฟรีทีวีด้วย

เนื่องจาก โอลิมปิก เป็นประเภทกีฬาที่ถูกกำหนดให้อยู่ในกฎ Must Have นี้ นอกจากนี้การ การขอรับเงินสนับสนุนให้ครั้งนี้ แตกต่างจากโอลิมปิกครั้งก่อนๆ ที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมารองรับ ทำให้บอร์ดกสทช.ชุดก่อนลงมติให้งบสนับสนุน 

อย่างไรก็ตาม การขอรับการสนับสนุนครั้งนี้ ครม. เพียงรับทราบการดำเนินการขอรับเงินสนับสนุนของ กกท.จาก กองทุน กทปส. แต่ไม่ได้มีมติเห็นชอบ ทำให้บอร์ด กสทช. ส่วนใหญ่เกรงว่า หากอนุมัติเงินสนับสนุนอาจจะเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายที่เอาเงินกองทุนฯไปให้เอกชน จึงมีความเป็นไปได้ว่าในการประชุมบอร์ดในวันที่ 17 ก.ค.นี้ หากมี การลงมติของ กสทช .เสียงส่วนใหญ่จะมีลงมติไม่เห็นชอบที่จะมอบเงินสนันสนุนตามที่ กกท.ขอสนับสนุนมา

“ การแข่งขันโอลิมปิก เป็นกีฬาที่รู้ว่าจะมีการจัดแข่งขันล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปี กกท.น่าจะมีการเตรียมพร้อม ล่วงหน้าในการหาเงินมาซื้อลิขสิทธิ์ หากต้องดำเนินการเอง และเมื่อทาง กสทช. ถามเรื่องราคาค่าลิขสิทธิ์ในการซื้อวงเงิน เท่าไรก็ไม่ได้รับข้อมูล"

ซึ่งตามกฎของคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ ไอโอซี ก็มีข้อกำหนดให้ ผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสด ต้องนำคอนเทนต์มาออกทางฟรีทีวีอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง นอกจากนี้ได้มีการสอบถาม ว่ามีเอกชนได้ซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วหรือไม่ ก็ไม่มีข้อมูลให้ แต่เท่าที่ทราบตอนนี้เอกชนที่ได้ลิขสิทธิ์ ได้มีการขายสิทธิ์ในการออกอากาศให้กับ  2 ค่ายมือถือ เพื่อนำไปออกอากาศในกล่อง IPTV ของตน ซึ่งทั้ง 2 ค่ายมือถือ ได้ทำหนังสือขออนุญาตออกอากาศมาที่สำนักงาน กสทช.แล้ว

หวั่นไม่ได้รับการถ่ายทอดเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทาง สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้ยื่นหนังสือถึง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กรรมการ กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เรียกร้องว่า หาก กสทช. โดย กองทุน กทปส. จะนำเงิน 435 ล้านบาทสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายในการ ซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดถ่ายทอดสดกีพาโอลิมปิก-พาราลิมปิก 2024 ตามที่มีข่าวออกมานั้น

ทั้งนี้ ขอให้ กสทช.โปรดพิจารณาและทบทวน เพื่อหาแนวทางในการสร้างบรรทัดฐานและความเข้าใจอันดีหรือ จัดสรรสิทธิ์การถ่ายทอดให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม หากมีการนำเงินจากกองทุน กทปส. มาสนับสนุน

เนื่องจากแหล่งที่มารายได้ของกองทุน กทปส. มาจาก ค่าธรรมเนียม และค่าปรับของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับสถานีโทรทัศน์ ช่องต่างๆ ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เหมือนการบริหารสิทธิ์ การถ่ายทอดฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา

ย้อนมหากาพย์เงินซื้อลิขสิทธิ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมบอร์ดกสทช. เมื่อ 3 เม.ย. 2567 บอร์ดได้ลงมติเอกฉันท์ 7:0 เสียง ให้ถอนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย  2026 ออกจากกฎ Must Have โดยระบุว่า ถ้าไทยจะดูคงต้องให้เอกชนเป็นผู้ประมูลหรือลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดเอง

โดยในกฎ Must Have คงเหลือ 6 ประเภทกีฬาให้ถ่ายสดฟรีในไทยคือ 1.ซีเกมส์ 2.เอเชียนเกมส์ 3.อาเซียนพาราเกมส์ 4.เอเชียนพาราเกมส์ 5.โอลิมปิก และ 6.พาราลิมปิก

ทั้งนี้ ในประเด็นการถ่ายทอดโอลิมปิก ปารีส 2024 แม้จะอยู่ในกฎ Must Have แต่ที่จะไม่ อนุมัติวงเงินก็เพราะว่าทราบว่ามีเอกชนบางรายได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปถ่ายทอดแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการอุดหนุนเงิน ถ่ายทอดกีฬาจากที่กกท.เสนอของบสนับสนุนมานั้น เป็นประเด็นดราม่าและขัดแย้งในบอร์ดมาตลอด สืบเนื่องจากฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ มีการใช้เงินจากกองทุนกทปส.สนับสนุนการถ่ายทอดสดจำนวน 600 ล้านบาท ที่ นายไตรรัตน์ ถูกตั้งกรรมการสอบ พร้อมมีมติให้ตั้ง นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ เป็น รักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน แต่จนทำให้เป็นคดีฟ้องร้องเกิดขึ้นในบอร์ดกสทช.

โดยเรื่องย้อนกลับไปเมื่อวันนี้ (9 พ.ย. 2565) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่กาตาร์ 2022 ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท และต่อมาบอร์ดระบุว่าการดำเนินการไม่เป็นตามมติบอร์ดและให้กกท.ทยอยจ่ายคืน แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด