‘เอไอเอส’ จับมือ 'สิงเทล - แม็กซิส' สกัดการหลอกลวงทางไซเบอร์
“เอไอเอส” จับมือ Singtel และ Maxis รับมือการหลอกลวงทางไซเบอร์ ครั้งแรกของโลกกับความร่วมมือเปิดบริการ Open API ของผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับสากล เสริมแกร่งการตรวจสอบและป้องกันภัยหลอกลวงทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ
นายภูผา เอกะวิภาต รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับ Singtel และ Maxis บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของอาเซียน ซึ่งนับเป็นความร่วมมือด้าน API ของบริษัทโทรคมนาคมในระดับนานาชาติครั้งแรกของโลก เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลแบบเรียลไทม์ เสริมความแข็งแกร่งในการยืนยันตัวตนและป้องกันการฉ้อโกง ขยายขอบเขตการให้บริการบน AIS Open API เพิ่มความปลอดภัยให้แอพพลิเคชั่น ในการตรวจสอบและยืนยันผู้ใช้งานด้วย API ครอบคลุมไปสู่ระดับภูมิภาค
AIS Open API เป็นแพลตฟอร์มชุดบริการการเชื่อมต่อ (Application Programming Interface – APIs) ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก GSMA เปิดให้บริการสำหรับนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นจากองค์กรธุรกิจต่างๆ เพื่อเข้าถึงศักยภาพของเครือข่ายโทรคมนาคมในการสร้างสรรค์บริการที่มีนวัตกรรมและเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ
บริการที่เปิดให้ใช้งานแล้วในปัจจุบัน คือ การยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการดิจิทัลที่ลงทะเบียนกับผู้ให้บริการกับข้อมูลการลงทะเบียนกับบริษัทโทรคมนาคม และการตรวจสอบว่าผู้ที่กำลังทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแอพพลิเคชั่นนั้น ดำเนินการจากอุปกรณ์ที่เพิ่งมีการเปลี่ยนซิมการ์ดหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต และหลอกลวงประชาชนจากการทำธุรกรรมออนไลน์ที่พบมากในปัจจุบัน
โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน ที่มีรายงานการโจมตีทางไซเบอร์ผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบอทอัตโนมัติที่มุ่งเป้าไปที่การทำธุรกรรมการชำระเงินในอีคอมเมิร์ซ
AIS Open API สามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกิจธนาคารและบริการทางการเงิน อีคอมเมิร์ซ เกมออนไลน์ ให้สามารถเพิ่มการยืนยันตัวตน (Multi-factor Authentication) ให้การทำธุรกรรมบนแอพพลิเคชั่นปลอดภัยมากยิ่งขึ้นผ่าน Number Verification API หรือการป้องกันการฉ้อโกงจากการทำธุรกรรมที่ต้องสงสัยผ่านการตรวจสอบเงื่อนไขเมื่อมีการเปลี่ยนซิมได้ทันที ผ่าน SIM Swap API ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการยึดบัญชี อีกทั้งผู้ให้บริการยังสามารถปรับเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบและป้องกันการทำธุรกรรมที่เป็นภัยทางไซเบอร์กับผู้ใช้งาน ลดผลกระทบต่อการใช้งานดิจิทัลของประชาชนได้
“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการสานต่อพันธกิจของเราในการปกป้องความปลอดภัยลูกค้าและผู้ใช้บริการดิจิทัล โดยการผสานความเชี่ยวชาญและทรัพยากรด้านโทรคมนาคมของเรากับ Singtel และ Maxis ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่ทรงพลัง “AIS Open API” ที่จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความปลอดภัยสำหรับธุรกิจและผู้บริโภคในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ การผนึกกำลังในการยืนยันหมายเลขโทรศัพท์ด้วย API”
นับเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในการยืนยันตัวตนผู้ใช้งานดิจิทัลทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ผ่านการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์แบบเรียลไทม์ โดยการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของบริษัทโทรคมนาคมเหล่านี้ร่วมกัน
ทั้งนี้ AIS Open API จะสามารถนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมและปลอดภัยเพื่อป้องกันรูปแบบการฉ้อโกงที่หลากหลาย รวมถึงการเข้ายึดบัญชีและการโจมตีแบบฟิชชิง โดยการยืนยันหมายเลขของ AIS Open API จะทำให้ธุรกิจสามารถลดความเสี่ยงของการฉ้อโกงเพิ่มความน่าเชื่อถือของลูกค้าได้เป็นอย่างมาก
นายอึง เทียน ช็อง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สิงเทล สิงคโปร์ กล่าวว่า การเติบโตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้อาจมีช่องว่างให้เกิดการฉ้อโกงทางดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อผู้บริโภคและธุรกิจ
ด้วยความร่วมมือนี้จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์จากข้อมูลของบริษัทโทรคมนาคม เราจะสามารถยืนยันตัวตน ปกป้อง และลดความสูญเสียทางการเงินได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ลูกค้าทั้งในสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซียได้รับประสบการณ์ด้านดิจิทัลที่ปลอดภัย
นายโก เซียว เอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แม็กซิส มาเลเซีย กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมครบวงจรชั้นนำของมาเลเซีย พร้อมส่งมอบการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว เชื่อถือได้ และปลอดภัยเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ความร่วมมือนี้จะช่วยปกป้องลูกค้าจากภัยคุกคามทางออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าสามารถก้าวข้ามสู่เปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ
นายจูเลี่ยน กอร์แมน หัวหน้าฝ่ายเอเชียแปซิฟิก สมาคมจีเอสเอ็ม (GSM Association: GSMA) กล่าวว่า โครงการ GSMA Open Gateway จะมีส่วนสำคัญต่อการจัดการกับการฉ้อโกงทางออนไลน์และช่วยเพิ่มความไว้วางใจของผู้บริโภคในบริการดิจิทัลใหม่ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
เนื่องด้วยการโจมตีจากการฉ้อโกงทางไซเบอร์สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้เสียหาย ทั้งด้านการเงินและสภาพจิตใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นในแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน อาชญากรไซเบอร์มักเลือกปฏิบัติการข้ามพรมแดนของประเทศ
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้พัฒนาบริการดิจิทัลจะต้องผนึกกำลังกันเพื่อร่วมหามาตรการในการป้องกันการฉ้อโกง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก
การลงนามความร่วมมือนี้ จะเปิดโอกาสให้นักพัฒนา สามารถเข้าถึงการให้บริการแก่ผู้ใช้งานมากกว่า 61.6 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทย (เอไอเอส 45 ล้านราย) มาเลเซีย (แม็กซิส 12 ล้านราย) และสิงคโปร์ (สิงค์เทล 4.6 ล้านราย) ซึ่งจะต่อยอดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ปลอดภัย ป้องกันภัยคุกคาม หรือการหลอกลวงด้านไซเบอร์ได้ในระดับภูมิภาค