‘ซีบร้า’ ไขรหัสความท้าทาย ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ‘การผลิต’
‘ซีบร้า’ วิเคราะห์ความท้าทาย การทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ของ "ภาคการผลิต" ที่วันนี้มี AI เป็นตัวช่วยสำคัญซึ่งหลายๆ ธุรกิจต่างมีความคาดหวังว่า ภายในปี 2572 จะผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้มากขึ้น
KEY
POINTS
-
กว่า 68% ของผู้ผลิตในเอเชีย-แปซิฟิกคาดหวังว่า AI จะผลักดันการเติบโตของธุรกิจมากขึ้นภายในปี 2572
- ข้อมูลคือกุญแจสำคัญในการเพิ่มทัศนวิสัยซัพพลายเชน
-
Visibility เป็นก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลง กุญแจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพในกระบวนการผลิต
ผลการสำรวจ “2024 Manufacturing Vision Study” โดย ซีบร้า เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการโซลูชันดิจิทัลชั้นนำ เผยว่า 61% ของผู้ผลิตทั่วโลกคาดหวังว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะผลักดันการเติบโตของธุรกิจมากขึ้นภายในปี 2572 โดยเพิ่มขึ้นจาก 41% ในปี 2567
เมื่อมองลึกลงมาในระดับภูมิภาค 68% ของผู้ผลิตในเอเชีย-แปซิฟิกคาดหวังว่า AI จะผลักดันการเติบโตของธุรกิจมากขึ้นภายในปี 2572 เพิ่มขึ้นจาก 46% ในปี 2567
โดยภาพรวม 92% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก และ 87% ในเอเชีย-แปซิฟิกต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (digital transformation) มากที่สุด ตอกย้ำให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้ผลิตที่จะปรับปรุงการจัดการข้อมูล และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เพิ่มทัศนวิสัยในซัพพลายเชน (visibility) คุณภาพ ตลอดจนกระบวนการผลิต
AI เปิดทางความสำเร็จ
แม้ว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ผลิต แต่ 30% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก และ 40% ในเอเชีย-แปซิฟิกทราบดีว่าเส้นทางสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค
เช่น ต้นทุนแรงงาน จำนวนแรงงานที่ใช้งานได้ การนำโซลูชันเทคโนโลยีมาปรับใช้ และการรวมเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับเทคโนโลยีด้านการดำเนินงาน (IT/OT convergence)
Visibility เป็นก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลง โดยการนำ AI และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อระบุ ตอบสนองต่อ และจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และโครงการได้ดียิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดกระบวนการผลิต เพื่อที่ผลลัพธ์จะได้ออกมาดีที่สุด
ศิวัจน์ โรจนเต็มศักดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยซีบร้า เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า ผู้ผลิตหลายรายกำลังเผชิญกับปัญหาในการใช้ข้อมูลของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งพวกเขาทราบดีว่าต้องนำ AI และโซลูชันเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว และประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญประกอบด้วย
ปิดช่องว่าง ‘ซัพพลายเชน’
ปิดช่องว่างทางทัศนวิสัยในซัพพลายเชน : ถึงแม้ว่าผู้ผลิตส่วนมากบอกว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นเรื่องสำคัญ แต่การทำให้การทำงานในโรงงานเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย
ดังนั้น Visibility ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพในกระบวนการผลิต
อย่างไรก็ดี ปัญหาช่องว่างทางทัศนวิสัยในซัพพลายเชน (visibility gap) ก็ยังคงมีอยู่ มีเพียง 16% ของผู้นำด้านการผลิตทั่วโลกที่สามารถติดตามการดำเนินงานตลอดกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์ได้ ส่วนในเอเชีย-แปซิฟิกมี 25% ของผู้นำด้านการผลิตที่ทำได้
ผู้นำด้านการผลิตเกือบ 6 ใน 10 (57% ทั่วโลก, 63% ในเอเชีย-แปซิฟิก) คาดว่าจะสามารถเพิ่ม visibility ในทุกขั้นตอนการผลิต และในซัพพลายเชนได้ภายในปี 2572 แต่ประมาณ 1 ใน 3 (33% ทั่วโลก, 38% ในเอเชีย-แปซิฟิก) บอกว่าความไม่ลงรอยกันระหว่าง IT และ OT เป็นอุปสรรคที่สำคัญในเส้นทางสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน
นอกจากนี้ 86% ของผู้นำการผลิตทั่วโลกยอมรับว่ากำลังเผชิญปัญหาในการตามนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทัน รวมไปถึงการนำอุปกรณ์ เซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีรวมเข้ากับโรงงาน/สำนักงานและซัพพลายเชน ซึ่ง 82% ของผู้นำด้านการผลิตในเอเชีย-แปซิฟิกก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน
เสริมทักษะ ‘แรงงาน’
เสริมทักษะแรงงาน พร้อมยกระดับคุณค่า และประสิทธิภาพ : ผลการสำรวจของซีบร้าเผยให้เห็นว่า ผู้ผลิตกำลังปรับกลยุทธ์สำหรับการเติบโต ด้วยการนำ AI และเทคโนโลยีอื่นๆ มาปรับใช้ เพื่อปรับโฉมการผลิต พร้อมสร้างเสริมทักษะของแรงงานภายใน 5 ปี ข้างหน้า
ข้อมูลระบุว่า เกือบ 3 ใน 4 (73%) ของผู้นำด้านการผลิตทั่วโลกวางแผนที่จะฝึกแรงงานใหม่ให้มีทักษะด้านการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ขณะที่ 7 ใน 10 คาดว่าจะนำเทคโนโลยีที่เน้นความคล้องตัวในการใช้งานเป็นหลักมาช่วยพัฒนาแรงงาน ส่วนในเอเชีย-แปซิฟิกมี 76% ของผู้นำด้านการผลิตที่วางแผน และคาดการณ์เช่นเดียวกัน
สำหรับ เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ผู้นำด้านการผลิตทั่วโลกกำลังปรับใช้ มีทั้งแท็บเล็ต (51% ทั่วโลก, 52% ในเอเชีย-แปซิฟิก), คอมพิวเตอร์พกพา (55% ทั่วโลก, 53% ในเอเชีย-แปซิฟิก) และซอฟต์แวร์สำหรับจัดการแรงงาน (56% ทั่วโลก, 62% ในเอเชีย-แปซิฟิก)
นอกจากนี้ 6 ใน 10 ของผู้นำการผลิต (61% ทั่วโลก, 65% ในเอเชีย-แปซิฟิก) ก็วางแผนที่จะนำคอมพิวเตอร์พกพาแบบสวมได้มาใช้เสริมประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานด้วย
ผู้นำด้านการผลิตที่เป็นผู้บริหารระดับสูง รวมไปถึงในสาย IT และ OT ทราบดีว่า การพัฒนาแรงงานต้องทำมากกว่าแค่นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ 6 ใน 10 ของผู้นำด้านการผลิตทั่วโลก และ 66% ของผู้นำด้านการผลิตในเอเชีย-แปซิฟิก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแรงงานอย่างต่อเนื่อง การสร้างเสริมทักษะใหม่ให้พนักงาน (69% ในเอเชีย-แปซิฟิก) และการพัฒนาสานอาชีพ (56% ในเอเชีย-แปซิฟิก) เพื่อดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถสูงในอนาคตมากที่สุด
‘ออโตเมชัน’ เพิ่มคุณภาพ
นำ automation มาช่วยเพิ่มคุณภาพให้ถึงขั้นสุด : ปัจจุบันผู้ผลิตในแต่ละภาคส่วนให้ความสำคัญกับจัดการคุณภาพมาก แต่ต้องเผชิญกับปัญหาทรัพยากรที่ลดลง
ผลสำรวจพบว่า ปัญหาหลักในด้านการจัดการคุณภาพที่ผู้นำด้านการผลิตต้องเผชิญ ประกอบไปด้วย การติดตามการดำเนินงานในซัพพลายเชนได้แบบเรียลไทม์ (33% ทั่วโลก, 40% ในเอเชีย-แปซิฟิก), การปฏิบัติตามมาตรฐาน และกฎระเบียบใหม่ (29% ทั่วโลก, 30% ในเอเชีย-แปซิฟิก), การผสานรวมข้อมูล (27% ทั่วโลก, 31% ในเอเชีย-แปซิฟิก), และการรักษาสถานะของการตรวจสอบย้อนกลับให้คงที่ (27% ทั่วโลก และในเอเชีย-แปซิฟิก)
ในอีก 5 ปีข้างหน้า แผนการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ของผู้นำด้านการผลิตจะสามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้ เช่น วิทยาการหุ่นยนต์ (65% ทั่วโลก, 72% ในเอเชีย-แปซิฟิก) ระบบตรวจสอบคุณภาพการผลิต หรือ machine vision (66% ทั้งทั่วโลก และในเอเชีย-แปซิฟิก) RFID (66% ทั่วโลก, 72% ในเอเชีย-แปซิฟิก) และ fixed industrial scanners (57% ทั่วโลก, 62% ในเอเชีย-แปซิฟิก)
ผู้นำด้านการผลิตส่วนมากเห็นตรงกันว่าการโซลูชัน automation เหล่านี้มีหลายปัจจัยเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมายงานที่ต้องใช้ทักษะสูงให้กับแรงงาน (70% ทั่วโลก, 75% ในเอเชีย-แปซิฟิก) การบรรลุข้อตกลงด้านระดับการบริการ (69% ทั่วโลก, 70% ในเอเชีย-แปซิฟิก) และการเพิ่มความยืดหยุ่นพื้นที่ (64% ทั่วโลก, 66% ในเอเชีย-แปซิฟิก)