จุดประกายทีมงาน (2)
ภาษิตไทย “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น” อาจใช้ไม่ได้ผลเสมอไปสำหรับคนทำงานยุคปัจจุบัน
เพราะที่มาของคำว่าพยายามนั้นแตกต่างกันมาก เช่นบางคนพยายามทำงานทั้งที่ไม่ชอบ เพราะต้องการมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ในขณะที่บางคนพยายามทำงานอย่างปฏิเสธไม่ได้เพราะหัวหน้าสั่ง
ความพยายามเหล่านั้นอาจทำให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการไม่ได้เลยเมื่อเทียบกับคนที่ทำงานด้วยความดีใจที่ได้แสดงฝีมือ หรือทำงานอย่างภาคภูมิใจเพราะมองเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต เพราะตัวอย่างทั้งสองนี้รับประกันว่าเขาจะทุ่มเทอย่างเต็มร้อยเพื่อให้ถึงเป้าหมาย
ความทุ่มเท่ทำงานที่ใจรักหรือเป็นงานที่ภาคภูมิใจที่ได้ทำนั้นเมื่อเจอปัญหาและอุปสรรคใดๆ ก็มักจะสนุกกับการจัดการปัญหาเหล่านั้นเพราะมองเป็นความท้าทายและเชื่อว่าสิ่งที่ได้ทำนั้นเป็นกำไรชีวิตจนบางครั้งอาจไม่ต้องอาศัยความพยายามใดๆ เพราะมีแรงขับดันมาจากความรักในสิ่งที่ทำเป็นหลัก
ยิ่งทำก็ยิ่งชอบ ยิ่งชอบก็ยิ่งได้เรียนรู้ ซึ่งก็จะยิ่งทำให้เขาทำได้ดียิ่งขึ้นไปอีก สุดท้ายก็ย่อมไปถึงความสำเร็จที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ แม้ว่าจะเจอปัญหามากมายจากความผันผวนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันและการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้น
การหาทางจุดประกายให้ทีมงานมีส่วนร่วมกับงานที่ทำเพื่อให้เขารักและภาคภูมิใจในผลงานของตัวเองนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นของการสร้างทีมงานในยุคปัจจุบัน เพราะคนรุ่นใหม่มีวิธีคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนมาก
แต่ความพยายามจะจุดประกายคนทำงานให้ได้นั้นก็จำเป็นต้องจำแนกทีมงานออกเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้นเพราะแต่ละกลุ่มล้วนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน เริ่มจากกลุ่มแรกที่ไม่สามารถจุดประกายได้อีกแล้ว นั่นคือกลุ่มที่มองโลกในแง่ร้ายและมองโอกาสที่เข้ามาเป็นปัญหามากกว่า
คนกลุ่มนี้จึงมักมองงานที่ได้รับมอบหมายว่าเป็นการเอาเปรียบเพราะองค์กรให้ทำงานต่างจากเดิม หรือไม่ก็มักโบ้ยไปให้คนอื่นเพราะมองว่าทำไมต้องเป็นตัวเอง แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อมีใครได้รับมอบหมายงานใหม่ ๆ ก็มักอิจฉาและมองว่าตัวเองไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่น การที่องค์กรมีคนกลุ่มนี้อยู่มากเกินไปอาจสร้างความล้มเหลวได้ในระยะเวลาอันสั้น
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะจุดประกายได้ นั่นคือมีความคิดเชิงบวกอยู่บ้างแต่อาจต้องการคนชี้แนะและช่วยกำหนดเป้าหมายให้ เมื่อถูกกระตุ้นและทำให้ดูเป็นตัวอย่าง คนกลุ่มนี้จะรับฟังและรับผิดชอบงานที่ทำเป็นอย่างดี ซึ่งคนกลุ่มนี้หากมีมากก็ช่วยให้องค์กรเลี้ยงตัวเองได้แต่อาจเติบโตยาก
กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มที่เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะเขาสามารถจุดประกายได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้อื่นมากระตุ้น และเขามักพร้อมช่วยเหลือผู้อื่นเพราะมองว่าเป็นโอกาสที่ตัวเองได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่นเดียวกับลูกค้าที่มักเรียกหาเขาเพราะรู้ว่าเขาเต็มใจช่วยอย่างเต็มที่
คนกลุ่มนี้จะมาทำงานด้วยพลังบวกในทุกวันเพราะเขามาด้วยใจที่อยากลงมือทำสิ่งใหม่ๆ และใช้ชีวิตอย่างมีสีสันเพราะมั่นใจว่าทำทุกอย่างให้ดีกว่าเดิมได้แน่นอน ซึ่งคนแบบนี้จะช่วยให้องค์กรพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
กลุ่มที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ กลุ่มแรกซึ่งแม้จะมีอยู่ทุกองค์กรแต่ก็ต้องหาทางบริหารให้เขาอยู่ถูกที่ถูกทางไม่เช่นนั้นจะทำให้คนอื่นที่อยู่รอบข้างได้รับพลังด้านลบตามไปด้วย ส่วนคนกลุ่มที่สองนั้นมักจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
การลดลำดับขั้นในองค์กรเป็นทางออกหนึ่ง รวมถึงการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันภายในก็ช่วยลดปัญหาและช่วยจุดประกายคนทำงานให้ลุกขึ้นมามีพลังได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนศักยภาพในองค์กรให้ระเบิดพลังเพื่อขับเคลื่อนองค์การสู่เป้าหมายได้ในท้ายที่สุด