‘เอสไอเอส’ จับมือ ‘ซีสแต็ค’ รุกตลาดคลาวด์ในไทย
‘เอสไอเอส’ ผนึกกำลัง ‘ซีสแต็ค’ รุกตลาดคลาวด์ มองไทยเป็นประเทศที่สำคัญเชิงเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ศักยภาพเติบโตสูง ตั้งเป้าสนับสนุนกลยุทธ์ด้านดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล และรัฐบาลดิจิทัลในประเทศไทย
นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือเอสไอเอส เผยว่า จับมือ ซีสแต็ค (ZStack) บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติ้งจากประเทศจีนรุกตลาดในไทย
โดยตั้งเป้าที่จะขยายตลาดและเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์คลาวด์ คอมพิวติ้งในไทยและภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกด้วยกลยุทธ์ใช้งานง่ายในราคาที่เหมาะสม
เอสไอเอสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซีสแต็ค ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทที่มีกว่า 10,000 ราย พร้อมกับสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในตลาด ด้วยการจัดอบรมและสัมมนาเพื่อให้ความรู้ และการบริการที่ดีสู่ลูกค้า
“เราเป็นผู้นำด้านธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าไอทีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกเกือบ 200 ราย มีฐานลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการคอมพิวเตอร์อยู่ทั่วประเทศทั้งที่เป็นร้านค้าปลีก บริษัทผู้ค้าที่จำหน่ายเข้าภาคธุรกิจและหน่วยงานราชการ ผู้รับวางระบบ และผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับซีสแต็ค เติบโตในประเทศไทยได้รวดเร็วอย่างแน่นอน"
ซีสแต็ค นับเป็นผลิตภัณฑ์คลาวด์ ที่มีความโดดเด่นด้านการใช้งานง่ายในราคาที่เข้าถึงได้ พร้อมทั้งสามารถพัฒนาโซลูชันที่ปรับแต่งตามความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะและความต้องการของลูกค้าในตลาดประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาครัฐ โทรคมนาคม การเงิน การขนส่ง พลังงาน การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการผลิต
เอสไอเอสและซีสแต็คมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสนับสนุนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลของประเทศไทยด้วยการจัดหาซอฟต์แวร์คลาวด์ คอมพิวติ้งระดับองค์กรที่จำเป็นสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมดิจิทัล และรัฐบาลดิจิทัล
โดยมุ่งหวังผสานรวมระบบเข้ากับแอพพลิเคชันและเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อพัฒนาโซลูชันซอฟต์แวร์โครงสร้างพื้นฐานบนคลาวด์ที่เหมาะกับลูกค้าองค์กรในประเทศไทย รวมทั้งช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลประสบความสำเร็จ
หวัง 'งบรัฐ' กระตุ้นไอทีครึ่งปีหลัง
สำหรับแนวโน้มตลาดไอทีในประเทศไทย จากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่อ่อนตัวลงจากภาวะเศษฐกิจชะลอตัวและภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เมื่อรวมกับการใช้จ่ายภาครัฐที่ล่าช้า ทำให้สินค้าไอทีสำหรับกลุ่มผู้บริโภค และการใช้จ่ายภาครัฐด้านไอทีหดตัวลงในครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม จากการอนุมัติงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาล คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง
สำหรับตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้งในประเทศไทย เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะถดถอยก็ตาม สังเกตได้จากการลงทุนด้านดาต้า เซ็นเตอร์ของบริษัท ชั้นนำระดับโลกด้านไอทีในประเทศ
ด้านนายแฟรงค์ จาง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีสแต็ค เผยว่า ด้วยประสิทธิภาพอันโดดเด่นและความสามารถในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ ได้รับความสนใจจากองค์กรยักษ์ใหญ่หลายแห่ง อาทิ อาลีบาบา คลาวด์ (Alibaba Cloud) ไชน่า เทเลคอม (China Telecom) เซินเจิ้น แคปิตอล กรุ๊ป (Shenzhen Capital Group) กลายมาเป็นผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในปัจจุบัน
สำหรับการเป็นพันธมิตรกับเอสไอเอส ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการขยายตลาดในประเทศไทย เพราะเอสไอเอส มีเครือข่ายที่แข็งแกร่งและมีบุลคลากรที่เชี่ยวชาญ ส่วนซีสแต็ค เป็นแพลตฟอร์ม คลาวด์ คอมพิวติ้งเชิงพาณิชย์ที่โดดเด่นด้านความสะดวกในการใช้งานและความน่าเชื่อถือ ทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจที่ต้องการโซลูชันที่ใช้งานง่ายและปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการนำเสนอเทคโนโลยี คลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่ล้ำสมัยให้กับผู้ใช้ระดับองค์กรมากกว่า 3,500 รายจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และหลังจากนี้มีเป้าหมายที่จะขยายไปสู่ตลาดเพิ่มเติมและผลักดันให้เป็นผู้ให้บริการชั้นนำผลิตภัณฑ์คลาวด์คอมพิวติ้งในระดับองค์กรในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกโดยรวม
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สำคัญเชิงเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในตลาดดิจิทัลที่มีแนวโน้มเติบโตเร็วที่สุดในอนาคต
การ์ทเนอร์ รายงานว่าประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่สูงถึง 80% และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือมากกว่า 50 ล้านราย อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตของตลาดคลาวด์ คอมพิวติ้งอยู่ที่ประมาณ 60% ซึ่งแซงหน้ายุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านไอทีของไทยจะเกิน 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2567 โดยค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 15.9% คาดว่าภายในปี 2570 เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีส่วนสนับสนุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยถึง 25% และภายในปี 2573 คาดว่า ส่วนสนับสนุนนี้จะเพิ่มเป็น 30%
พร้อมทั้งคาดว่าภายในปี 2568 ขนาดตลาดคลาวด์ในประเทศไทยจะมีมูลค่าถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น 23.4%