'ดีอี' จุดพลุสถาบันฯไซเบอร์แห่งชาติ ชูฮับพัฒนาทักษะความปลอดภัยออนไลน์

'ดีอี' จุดพลุสถาบันฯไซเบอร์แห่งชาติ ชูฮับพัฒนาทักษะความปลอดภัยออนไลน์

ดีอีเปิดตัวสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สร้างบทบาทเสริมความสามารถและความรู้ความเข้าใจของคนไทย ด้านสกมช.โชว์ยอดพัฒนาทักษะไซเบอร์ทะลุ 1 ล้านคน เผยเป้าหมายระยะ 2 ยกระดับศักยภาพบุคลากรทุกช่วงวัย กุญแจสำคัญสู่ความมั่นคงปลอดภัยอย่างยั่งยืน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) กล่าวหลังเป็นประธานเปิดตัว “สถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (Thailand National Cyber Academy : THNCA) ว่า ซึ่ง สถาบันฯดังกล่าวได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาความรู้และทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของบุคลากรในทุกช่วงวัย ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปฏิบัติงาน ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร รวมถึงประชาชนทั่วไป 

ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานและความเข้มแข็งในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ การจัดตั้งสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติครั้งนี้ จะสร้างบทบาทสำคัญการเตรียมความพร้อมขีดความสามารถและความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่าง ๆ 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ Critical Information Infrastructure หรือ หน่วยงาน CII ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถเข้าทดสอบประกาศนียบัตรอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในหลักสูตรต่าง ๆ รวมทั้งหลักสูตรเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

“สถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทิศทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการยกระดับการป้องกัน และความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์“

รัฐมนตรีดีอี เสริมว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการพัฒนาบุคลากรไซเบอร์ทุกช่วงวัย เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับสังคมและเศรษฐกิจไทยในยุคดิจิทัล ซึ่งสถาบันแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางและแกนหลักที่สำคัญ ในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร ตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติการจนถึงระดับผู้บริหาร เพื่อให้ผู้รับผิดชอบส่วนงาน
ด้านนี้ทุกระดับ มีขีดความสามารถและทักษะในการรับมือ และตอบโจทย์การป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เพียงแต่แสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการปกป้องประชาชนและทรัพย์สินจากภัยไซเบอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงความพร้อม ในการเป็นผู้นำในด้านนี้ในระดับภูมิภาคและระดับโลกในอนาคต 

 

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการสกมช. กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา สกมช. ได้ดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะที่ 1 รวมไปถึงการจัดฝึกอบรมต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับเด็ก เยาวชน คนทำงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยมียอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทุกแพลตฟอร์มกว่า 1 ล้านคน จำนวนชั่วโมงการอบรมมากกว่า 2,000,000 ชั่วโมง ส่วนการตั้งสถาบันฯเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 2 ของ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สกมช. 

จากจำนวนนี้จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เริ่มจากภาคการศึกษา สกมช.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อย่างเช่น ความร่วมมือกับเครือโรงเรียนสารสาสน์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 70,000 คน จากจำนวน 50 สถาบันการศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Train the Trainer) ความร่วมมือกับ14 มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรด้านไซเบอร์เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้กับนิสิต ความร่วมมือกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส ในการขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ 

สำหรับในส่วนผู้ปฏิบัติงาน สกมช. 
มุ่งยกระดับทักษะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ผ่านการอบรมและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การอบรม Cyber Clinic มีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คนโครงการพัฒนาขีดความสามารถ Lead Implementer, Lead Auditor โครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาขีดความสามารถผู้ปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล จัดขึ้น 9 จังหวัดทั่วไทย มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 3,000 คน จากทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 1 มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 5,500 คน และความร่วมมือกับ ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC) ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

โดยได้ดำเนินการจัดอบรมและผู้เข้าร่วมกว่า 2,500 คน อีกกลุ่มที่สกมช. ให้ความสำคัญ ไม่แพ้กันคือประชาชนทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง สกมช.โดยได้จัดอบรม NCSA Cybersecurity Knowledge Sharing มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 109,188 คน และการแข่งขัน “Thailand Cyber Top Talent” และ “Woman Thailand Cyber Top Talent” ที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยผลิตบุคลากรทางไซเบอร์ และร่วมกับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เสริมสร้างทักษะทางวิชาชีพกับคนพิการให้อยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากพันธมิตรหลายฝ่าย อาทิ Unicef กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เป็นต้น