Private Network: ทางออกของ 5G ไทย | สุพจน์ เธียรวุฒิ

Private Network: ทางออกของ 5G ไทย | สุพจน์ เธียรวุฒิ

ประเทศไทยเริ่มเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 5 หรือที่เรียกกันว่า 5G มาแล้วเป็นเวลา 4 ปี GSMA รายงานว่า สัญญาณระบบ 5G ครอบคลุมพื้นที่ ร้อยละ 76 ของประชากรตั้งแต่ปลายปี 2021

ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการ 5G ในไทยประมาณ 24.4 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด 99.8 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันว่า ผู้ใช้บริการ 5G จะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 94 ของผู้ใช้บริการทั้งหมดภายในปี 2030

บริการ 5G มีคุณสมบัติสำคัญที่แตกต่างจากบริการ 4G คือ เป็นบริการ “บรอดแบนด์ความเร็วสูงมาก” (Enhanced Mobile Broadband) ทำให้รับส่งภาพเคลื่อนไหวที่มีความคมชัดสูงมากอย่าง 4K หรือ 8K ได้  มี “ความหน่วงต่ำมาก” (Ultra Low Latency)

ทำให้สามารถควบคุมบังคับอุปกรณ์เครื่องจักรทางไกลให้ตอบสนองได้เกือบจะในเวลาทันที และสุดท้าย รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณหรือเซ็นเซอร์ผ่านอินเทอร์เน็ตในจำนวนมหาศาล (Massive IoT)

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานจากประโยชน์ของขีดความสามารถแต่ละด้านของ 5G เช่น บริการบรอดแบนด์ความเร็วสูง ใช้ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ด้วยกล้องความคมชัดสูงมากจากหลายมุมมอง  การผ่าตัดทางไกลหรือการบังคับเครื่องจักรกลการเกษตรจากทางไกล ใช้ประโยชน์จากความหน่วงต่ำ ส่วนกรณีการรองรับอุปกรณ์ IoT จำนวนมหาศาล ใช้กับการติดตั้งเซนเซอร์จำนวนมากในพื้นที่จำกัด เช่น โรงงาน หรือ พื้นที่ใจกลางของเมือง เป็นต้น

แม้ว่าผู้ใช้บริการ 5G ของไทยจะเติบโตขึ้น แต่เกือบทั้งหมดยังเป็นการใช้เพื่อส่งข้อมูลความเร็วสูงขึ้นกว่าระบบ 4G เท่านั้น การใช้งานในรูปแบบของการใช้ประโยชน์จากความหน่วงต่ำหรือใช้กับอุปกรณ์ IoT จำนวนมากยังไม่ได้แพร่หลาย

นอกจากการทดลองใช้ในวงจำกัด เช่น ใช้กับรถพยาบาลฉุกเฉิน โดยสามารถส่งผลการสแกนผู้ป่วย รวมถึงข้อมูลสัญญาณชีพไปยังแพทย์ก่อนผู้ป่วยจะเดินทางไปถึงโรงพยาบาล เป็นการใช้ประโยชน์จากความเร็วในการส่งสัญญาณที่สูงขึ้นเท่านั้น

การประยุกต์ใช้งาน 5G เคยถูกประเมินว่าจะไม่เป็นเพียงบริการ “บรอดแบนด์” ที่มีความเร็วสูงขึ้นเท่านั้น แต่จะเข้าไปช่วยพลิกโฉมปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปสู่ดิจิทัล ได้ง่ายขึ้น ด้วยการผสมผสานขีดความสามารถทั้งสามด้านเข้าด้วยกัน อย่างในกรณีของ “โรงงานอัจฉริยะ” (Smart Factory) ที่ปรับไปสู่การเป็นโรงงานแบบไร้สาย โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวนมหาศาล เข้ากับหลาย ๆ จุด

เริ่มตั้งแต่ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ติดตามและตรวจสอบคุณภาพ เครื่องจักรเพื่อวัดประสิทธิภาพและทำนายโอกาสที่จะหยุดทำงานจากความผิดปกติ รถขนชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อส่งไปตามสายการผลิต ไปจนถึงเซนเซอร์ตรวจวัดสิ่งแวดล้อมในโรงงาน เช่น อุณหภูมิ ความชื้น หรือค่าฝุ่น  รวมถึงภาพเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นต้น

ในสภาพเช่นนี้ จะมีอุปกรณ์ IoT จำนวนมากในพื้นที่จำกัดของโรงงาน และต้องอาศัยค่าความหน่วงที่ต่ำในการสื่อสารระหว่างรถขนชิ้นส่วนอัตโนมัติ นอกเหนือไปจากบริการบรอดแบนด์ซึ่งจำเป็นอยู่แล้ว

สาเหตุที่ยังไม่มีการนำ 5G ไปใช้ในโรงงานอย่างแพร่หลายนั้น มีความเกี่ยวข้องกับคนสามกลุ่ม  ในการปรับเปลี่ยนไปใช้ 5G เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานนั้น เจ้าของโรงงานต้องมองเห็นความคุ้มค่าในการลงทุนระบบสื่อสารและการปรับระบบการผลิตที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปมักจะไม่กล้าเสี่ยงหากยังไม่เห็นผลที่จะได้รับจริง

ในขณะเดียวกัน แม้ว่าผู้ให้บริการระบบไอที พร้อมที่จะเสนอระบบงานใหม่ ๆ ให้โรงงานทดลองใช้ (อาจจะฟรี) แต่ก็ติดขัดที่ไม่ได้มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 5G ทำให้ต้องพัฒนาบริการร่วมกับผู้ให้บริการโครงข่าย 5G

แต่สุดท้าย ผู้ให้บริการ 5G คือผู้ให้บริการ “โครงข่าย” ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการไอทีหรือขายระบบงานดิจิทัล จึงเน้นแต่การขายเน็ต หรือโทรศัพท์ ซึ่งต้องการรายได้แบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงยากที่จะเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการทดลองนวัตกรรมในการปรับปรุงโรงงานได้

ทางออกของเรื่องนี้ ต้องอาศัย “โครงข่าย 5G แบบส่วนตัว” (5G Private Network) อย่างเช่นที่หลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปได้เริ่มต้นแล้ว

โครงข่าย 5G แบบส่วนตัว หมายถึง โครงข่าย 5G ที่จำกัดการใช้งานเป็นแบบส่วนตัว เหมือนกับโครงข่าย WiFi ที่ใช้ได้เฉพาะภายในอาคารสำนักงานหรือโรงงาน ที่เจ้าของคือบริษัท หรือ ผู้ให้บริการไอที หรือหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐ เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และไม่สามารถนำไปให้บริการเป็นการทั่วไปได้

การจะให้บริการโครงข่าย 5G แบบส่วนตัวได้ ต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่านพิเศษแยกจากคลื่นความถี่ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้มีการนำไปใช้ได้โดยเสรีแต่มีข้อจำกัดในการใช้งานในพื้นที่นิติบุคคลของตนเองเท่านั้น

หากมีการจัดสรรคลื่นสำหรับโครงข่าย 5G แบบส่วนตัวเกิดขึ้น จะทำให้โรงงานหรือบริษัทต่างๆ สามารถนำคลื่น 5G (ซึ่งมักจะเป็นคลื่นย่าน Mid Band) ไปใช้ในพื้นที่ของตนเองได้โดยอิสระ สามารถทดลองหรือบริการกับระบบงานใหม่ ๆ ร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์หรือผู้ให้บริการไอทีได้ง่ายขึ้น เป็นการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในการนำ 5G ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแต่ละอุตสาหกรรมได้

นอกจากนี้ การที่เป็นโครงข่ายส่วนตัว จะทำให้เจ้าของโรงงานหรือบริษัท มีความเชื่อมั่นว่าความลับของบริษัทจะไม่รั่วไหล เพราะเป็นผู้ควบคุมโครงข่ายและการใช้งานในพื้นที่ของตนเองอย่างเต็มที่ ก็จะกล้าลงทุนพัฒนาในโครงข่าย 5G Private Network โดยเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์หรือผู้ให้บริการไอที

ปัจจุบัน มีการสร้างโครงข่าย 5G แบบส่วนตัวแล้วใน 72 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลศึกษาว่า จำนวนโครงข่าย 5G แบบส่วนตัว ขึ้นอยู่กับปริมาณคลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรเป็นการเฉพาะ

ดังนั้น หาก กสทช. อยากจะให้ 5G ของประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของไทยอย่างแท้จริงแล้ว คงต้องรีบจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ 5G Private Network โดยเร็วที่สุดแล้วละครับ.