‘วีม ซอฟต์แวร์’ แนะกลยุทธ์ รับมือ 4 เทรนด์ใหม่ยุคแห่งข้อมูล
"วีม ซอฟต์แวร์" เปิด 4 เทรนด์สำคัญด้านข้อมูลที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจวันนี้ถูกท้าทายด้วย Data Explosion, Infrastructure Complexity, Vendor Lock-In, และการขยายตัวของภัยคุกคามทางไซเบอร์รวมถึงแรนซัมแวร์ที่มีรูปแบบการโจมตีที่ซับซ้อนกว่าเดิม
KEY
POINTS
-
ปริมาณข้อมูลเกิดใหม่สูงขึ้นเป็นเท่าตัวทุกๆ ปี
- ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจาก 4 เทรนด์สำคัญด้านข้อมูล
-
Generative AI กลายเป็นปัจจัยในการเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการสร้างข้อมูลใหม่ๆ
-
กว่า 96% ของการโจมตีทางไซเบอร์มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ข้อมูลขององค์กร
ปีนี้มีข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นใหม่มากกว่า 150 เซตตะไบต์ จนกล่าวได้ว่า 90% ของข้อมูลเกิดใหม่ทั่วโลก ล้วนถูกสร้างขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา...
ชัว เช พิน รองประธานบริษัท ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี วีม ซอฟต์แวร์ (Veeam Software) กล่าวว่า อุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการใช้งานข้อมูลปริมาณมหาศาล
ปี 2567 มีปริมาณข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ถึง 150 เซตตะไบต์ หรือ 1 พันล้านเทราไบต์ และปริมาณข้อมูลเกิดใหม่นี้จะสูงขึ้นเป็นเท่าตัวทุกๆ ปี
ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความต้องการของธุรกิจในการบริหารจัดการ ปกป้อง และใช้งานข้อมูล ของตนเองเนื่องจากร่องรอยข้อมูลทางดิจิทัลมีความซับซ้อน มีปริมาณสูงขึ้น
‘4 เทรนด์’ สำคัญด้านข้อมูล
เจษฏา ภาสวรวิทย์ ผู้จัดการอาวุโส ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ วีม ซอฟต์แวร์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมในประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจาก 4 เทรนด์สำคัญด้านข้อมูลที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ประกอบด้วย Data Explosion, Infrastructure Complexity, Vendor Lock-In, และการขยายตัวของภัยคุกคามทางไซเบอร์รวมถึงแรนซัมแวร์ที่มีรูปแบบการโจมตีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
Data Explosion : อุตสาหกรรมในยุคดิจิทัลนั้น ทุกองค์กรธุรกิจล้วนมีความเป็นธุรกิจซอฟต์แวร์อยู่ในตัว นำไปสู่การสร้างข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นทวีคูณ อีกทั้งการตื่นตัวต่อเทคโนโลยี AI และ Generative AI ก็กลายเป็นปัจจัยในการเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการสร้างข้อมูลใหม่ๆ
ทุกวันนี้ข้อมูลเปรียบเสมือนสกุลเงินของทุกธุรกิจ การที่องค์กรจะเสริมสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลเหล่านี้จะได้รับการปกป้อง มีการบริหารจัดการที่ดี และถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยแนวทางที่มีความสมบูรณ์รอบด้านแม้กระทั่งในสภาวะที่ปริมาณข้อมูลเพิ่มจำนวนสูงขึ้น
“การเลือกใช้แนวทาง data resilience จะช่วยตอบโจทย์ของธุรกิจได้ว่าทุกความต้องการของเขาได้รับการเติมเต็มอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งมีความพร้อมต่อการรับมือกับความท้าทายด้านข้อมูลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
ผลเสียต่อเนื่องเป็นโดมิโน่
Infrastructure Complexity : โดยทั่วไปองค์กรธุรกิจต่างๆ ใช้บริการคลาวด์ ระบบรักษาความปลอดภัยแบบ endpoint หรือแม้กระทั่งมีสถานที่ตั้งที่ทำงานมากกว่าหนึ่ง ทำให้การบริหารจัดการและปกป้องข้อมูลที่สำคัญขององค์กรมีความซับซ้อนตามไปด้วย
หากโครงสร้างพื้นฐานใดก็ตามขององค์กรล่มขึ้นมา ข้อมูลที่อยู่ในนั้นก็จะล่มตามไปด้วย และสร้างผลกระทบต่อเนื่องเป็นโดมิโน่มาถึงตัวธุรกิจเอง
การป้องกันและจัดการกับความซับซ้อนดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยแนวทาง data resilience ที่จะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์และการบูรณาการของบรรดาพันธมิตรคู่ค้า ผู้ให้บริการ และเวนเดอร์ หลายๆ รายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการทำความเข้าใจในการจัดการด้านความแตกต่างของเงื่อนไขการรับผิดชอบร่วมกันของแพลตฟอร์ม SaaS
Vendor Lock-In : เพราะการจัดเก็บ บริหารจัดการ และการใช้งานข้อมูลของธุรกิจมีความซับซ้อนสูงขึ้น อีกทั้งธุรกิจยังมีความเสี่ยงที่จะถูกผูกขาดทางเทคโนโลยีจาก vendor หรือแพลตฟอร์มรายใดรายหนึ่ง
หากวันใดที่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีบางส่วนไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม องค์กรธุรกิจนั้นๆ จำเป็นต้องมีความสามารถในการย้ายข้อมูลไปยังระบบหรือแพลตฟอร์มใหม่ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย
การจัดเก็บข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมต่อการเคลื่อนย้ายและจัดการข้อมูลที่สำคัญให้อยู่ในสภาวะที่มีความเป็นอิสระเพื่อความสะดวกในการโอนย้ายจากแพลตฟอร์มหรือสถานที่ การกู้คืนข้อมูล คืออีกหนึ่งกุญแจสำคัญในการพิจารณาการจำลองฉากทัศน์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
'แรนซัมแวร์' โจมตีไม่หยุด
การขยายตัวของภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรนซัมแวร์ : ข้อมูลจาก Veeam 2024 Ransomware Trend Report พบว่า 75% ของธุรกิจเคยตกเป็นเหยื่อการโจมตีอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ 25% ที่เหลือตกเป็นเป้าหมายมากกว่า 4 ครั้งในระยะเวลาเท่ากัน นอกจากนี้การยอมเสียค่าไถ่ให้กับอาชญากรไซเบอร์ก็ไม่ใช่สิ่งที่รับประกันว่าจะได้รับข้อมูลทั้งหมดกลับคืนมา โดย 25% ระบุว่าพวกเขาต้องสูญเสียข้อมูลสำคัญไปแม้จะจ่ายค่าไถ่ไปแล้วก็ตาม
อีกทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยี AI ก็มีส่วนในการเสริมสร้างความซับซ้อนให้กับการโจมตีทางไซเบอร์และนำไปสู่ความเสียหายอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ
ข้อมูลระบุด้วยว่า กว่า 96% ของการโจมตีทางไซเบอร์เหล่านี้มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ข้อมูลขององค์กรรวมถึงข้อมูลเป้าหมายที่ถูกสำรองไว้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูล กับการปฏิบัติการต่างๆ ที่ต้องยกระดับความสำคัญให้ยิ่งยวดกว่าเดิม
“ปัจจุบันธุรกิจในประเทศไทยกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หากข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้ ธุรกิจก็ต้องหยุดชะงัก ด้วยเหตุนี้องค์กรธุรกิจต่างๆ จึงต้องใส่ใจต่อการปกป้องข้อมูลทั้งที่มีอยู่ในทุกแพลตฟอร์มและทุกช่องทางเทคโนโลยี องค์กรต้องมั่นใจว่าข้อมูลต่างๆ เหล่านี้พร้อมใช้งานเสมอทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ”
แก้ด้วย Data Resilience
วีม ซอฟต์แวร์ แนะว่า องค์กรธุรกิจควรให้ความสำคัญต่อการปกป้องข้อมูลอันเปรียบเสมือนเส้นเลือดขององค์กร ด้วยการใช้แนวทาง Data Resilience ภายใต้องค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
- Data Backup: เนื่องจาก 96% ของการโจมตีทางไซเบอร์พุ่งเป้ามาที่ข้อมูล ธุรกิจต้องมีการสำรองข้อมูลอย่างเหมาะสม ปลอดภัย มีความมั่นคงในระดับที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลได้ และปราศจากข้อผิดพลาด
- Data Security: ระบบรักษาความปลอดภัยที่ก่อตัวจากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแบบ zero-trust ที่มอบความมั่นคง การควบคุมการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัยเชิงรุก เช่น การตรวจสอบภัยคุกคามอย่างละเอียด
- Data Recovery: ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายถึงขีดสุด ธุรกิจต้องสามารถกู้คืนข้อมูลได้ในทันทีโดยปราศจากการสูญเสียหรือมีการปนเปื้อนของภัยคุกคามแฝงอยู่ภายใน
- Data Freedom: เมื่อมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ธุรกิจต้องสามารถโอนย้ายข้อมูลของพวกเขาได้จากทุกที่ ในทุกเวลา และทุกรูปแบบตามที่พวกเขาต้องการ และตอบสนองต่อทุกเงื่อนไขในการปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยี
- Data Intelligence: ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเทคโนโลยี AI ในการดูแลรักษาข้อมูลของธุรกิจให้มีความปลอดภัยและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด