เจาะลึกอุตสาหกรรม ‘เอไอ’ ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ในแผนที่โลก
หลายคนคงได้อ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” ที่ระบุในด้าน “การจะต่อ ยอดพัฒนา เศรษฐกิจดิจิทัล จากความเข้มแข็งเดิมในอุตสาหกรรมดิจิทัล รัฐบาลนี้ จะวางรากฐานให้คนไทย ทุกกลุ่มวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาตนเอง
หลายคนคงได้อ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” ที่ระบุในด้าน “การจะต่อ ยอดพัฒนา เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) จากความเข้มแข็งเดิมในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตฮาร์ดดิสก์ ให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อตั้ง Data Center และโรงงานผลิตชิปและชิปดีไซน์ และผลิต Semiconductor ในประเทศไทย กระตุ้นให้เกิด ความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ
รัฐบาลนี้ จะวางรากฐานให้คนไทย ทุกกลุ่มวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาตนเอง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรม นำประเทศสู่ความล้ำสมัย โดยไม่ละเลยจุดสมดุลของความเป็นเจ้าของอธิปไตยข้อมูล และการเปิดกว้างของโอกาสสำหรับการพัฒนา”
ผมคิดว่านโยบายทางด้านนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการพัฒนาคนให้ใช้เอไอ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในโลกที่เปลี่ยนไป แต่บางคนก็ยังตั้งคำว่าแล้วเราจะเปลี่ยนตัวเองจากประเทศผู้ใช้เอไอกลายเป็นผู้นำในการผลิตอุตสาหกรรมเอไอได้ไหม
ผมคิดว่านโยบายทางด้านนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมการพัฒนาคนให้ใช้เอไอ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในโลกที่เปลี่ยนไป แต่บางคนก็ยังตั้งคำว่าแล้วเราจะเปลี่ยนตัวเองจากประเทศผู้ใช้เอไอกลายเป็นผู้นำในการผลิตอุตสาหกรรมเอไอได้ไหม
ก่อนอื่นเราคงต้องเข้าใจห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเอไอ ซึ่งมีหลากหลายกลุ่มย่อยที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำคือ บริษัทผู้ผลิตชิปประมวลผล บริษัทดาต้าเซ็นเตอร์ด้านเอไอ กลุ่มหน่วยงานหรือบริษัทที่รวบรวมข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่ บริษัทพัฒนาโมเดลเอไอ บริษัทพัฒนาโซลูชันหรือแอปพลิเคชันด้านเอไอบริษัทที่เป็นผู้วางระบบด้านเอไอ (AI System Integrator) ซึ่งทำหน้าที่ติดตั้งระบบเอไอ เข้ากับระบบและกระบวนการทำงานขององค์กร สุดท้ายก็อาจเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่าย
ซึ่งหากเราวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานนี้แล้ว คงต้องพิจารณาให้ดีว่า เราจะสามารถปักหมุดประเทศไทยลงไปอยู่จุดใดได้ ในแง่ของการเป็นผู้ผลิตชิปประมวลผลคงเป็นไปไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมถูกผูกขาด โดยบริษัทใหญ่อย่าง NVIDIA แม้รัฐบาลอาจมีนโยบายดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อตั้งโรงงานผลิตชิปและชิปดีไซน์ แต่ก็เชื่อว่าถ้ามาจริงก็เป็นชิปทั่วไปมากกว่า GPU ประมวลผลขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการคนออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญและโรงงานการผลิตขั้นสูง ขณะเดียวกันการผลิต GPU ชั้นนำ ก็ถูกจัดว่าเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติมหาอำนาจ
ด้านการทำดาต้าเซ็นเตอร์ ก็คงเช่นกันที่เราอาจดึงนักลงทุนมาลงได้บ้าง แต่ถ้าพูดถึงดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับการทำเอไอจะต้องใช้ GPU จำนวนมหาศาล และใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาก ซึ่งประเทศไทยคงไม่พร้อมกับการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์แบบนี้ และในอุตสาหกรรมนี้เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เราก็ยังตามหลังอยู่พอสมควร
ด้านการรวบรวมข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่ อันนี้เรามีแหล่งข้อมูลน้อยกว่า บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่มาก ซึ่งปัญหาของเขาแตกต่างกับประเทศอื่น เพราะเขาเริ่มรวบรวมมาจนแทบหาข้อมูลใหม่ยากจนเริ่มสร้างข้อมูลสังเคราะห์เพื่อมาสอนโมเดลเอไอ แต่ในประเทศเรายังขาดการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ภาคเอกชนก็มักจะบ่นว่าเราไม่มีข้อมูลเปิดที่มากพอในการนำไปสอนโมเดลเอไอที่ต้องใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ เมื่อขาดข้อมูลการจะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเอไอก็เป็นเรื่องยาก
ด้านการพัฒนาโมเดลเอไอ เราคงต้องแบ่งก่อนว่ามีโมเดลขนาดใหญ่อย่างพวก Generative AI เช่น GPT-4 หรือ Gemini ซึ่งการพัฒนาโมเดลเหล่านี้จะยากมาก ต้องการผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ต้องมีปริมาณข้อมูลมหาศาล และข้อสำคัญต้องพัฒนาบนเอไอดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ และการพัฒนาโมเดลแต่ละตัวใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท ซึ่งโอกาสของประเทศไทยในด้านนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย
แต่ก็มีโมเดลเล็กๆ เฉพาะด้านที่เราอาจพอแข่งขันได้ เช่น การสร้างโมเดลเกี่ยวกับภาษาไทย โมเดลเอไอทางการแพทย์ การเกษตร หรือการท่องเที่ยว ซึ่งหากเรามีนโยบายในการส่งเสริมที่ดีก็อาจสร้างโอกาสให้บริษัทไปแข่งขันในเวทีโลกได้เช่นกันกับการพัฒนาโซลูชันหรือแอปพลิเคชันด้านเอไอที่บ้านเราก็มีหลายบริษัทที่พัฒนาโซลูชันเอไอเฉพาะทางมา โดยเฉพาะทางด้านการประมวลภาษา งานทางด้านเกษตร งานทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาหุ่นยนต์หรือโดรนที่ใช้เอไอในงานบางด้าน
ส่วนบริษัท AI System Integrator ซึ่งทำหน้าที่ติดตั้งระบบ ส่วนมากก็เป็นบริษัทไทยที่นำโซลูชันเหล่านี้ไปติดตั้งให้ผู้ใช้งาน แต่ในปัจจุบันโซลูชันส่วนใหญ่ก็จะเป็นของต่างประเทศ เพราะในส่วนที่เป็นของไทยยังมีเพียงเล็กน้อย และผู้พัฒนาแอปพลิเคชันในบ้านเราเองก็มักจะทำการติดตั้งเอง
สุดท้าย การพัฒนาอุตสาหกรรมเอไอจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มากพอ ซึ่งอันนี้ก็อาจเป็นประเด็นที่ยากพอควร เพราะผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้จะยากกว่าสาขาอื่นๆ จำเป็นต้องเก่งคณิตศาสตร์พอควรซึ่งคนไอทีของบ้านเราส่วนมากมักจะเป็นนักพัฒนาโปรแกรมมากกว่า และเรียนคณิตศาสตร์มาไม่ได้ลึกซึ้งเพียงพอที่จะพัฒนาโมเดลเอไอใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนทางคณิตศาสตร์ได้ แม้แต่ปริมาณคนไอทีที่จบมาต่อปียังมีไม่มากพอ
กล่าวโดยสรุป นโยบายการพัฒนาคนให้ใช้เทคโนโลยีเอไอเป็นเรื่องที่ดียิ่ง แต่ถ้าจะก้าวข้ามจากการเป็นผู้ใช้ไปเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้ ค่อนข้างยากมาก ที่เราพอเล่นได้ในเวลานี้ อาจเป็นการพัฒนาโซลูชันและแอปพลิเคชันเอไอเฉพาะด้าน หรืออาจพอสร้างโมเดลเอไอขนาดเล็กเฉพาะด้านได้ แต่ก็จำเป็นจะต้องเร่งสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพิ่มขึ้น เราจึงจะพอปักหมุดประเทศไทยลงในแผนที่ของอุตสาหกรรมเอไอโลกได้บ้าง