'ดีอี' ชู 3 ตัวแปรดิจิทัลเครื่องมือเปลี่ยนไทย ดันอันดับการแข่งขันพุ่งทะยาน
ปลัดกระทรวงดีอี เปิดยุทธศาสตร์เคลื่อนประเทศด้วยองคาพยพด้านดิจิทัล วางเป้าหมาย Ranking การแข่งขันด้านดิจิทัลไทยต้องขึ้นอันดับที่ 30 ของโลกภายในปี 2569 เพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30%
วันนี้ (19 ก.ย.) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ฉลอง 60 ปี จัดสัมมนา “60 Years OF EXCELLENCE” เปิดงานเสวนาในหัวข้อ The Digital Imperative โดยมี ศาสตร์จารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวปาฐกาถา โดยระบุว่า เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกที่เข้าสู่ยุคที่ดิจิทัลเป็นปัจจัยหลักในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเริ่มมีการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นองค์ประกอบในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
รวมทั้งมีการจัดทำดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) ในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และสร้างการรับรู้แก่บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์การพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ และกระทรวงดีอีในการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย
วางเป้าการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันดิจิทัล
ปลัดกระทรวงดีอี ระบุว่า การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยในปี 2566 หรือ Thailand Digital Competitiveness Ranking 2023 ตาม IMD World Digital Competitiveness Ranking 2023 ดีขึ้น 5 อันดับ โดยไทยอยู่อันดับที่ 35 จากเดิม อันดับที่ 40 ในปี 2565 ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย จะต้องอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกภายในปี 2569 นี้
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566-2570 ที่มุ่งเน้นให้ประเทศมีระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การทำธุรกรรมฯ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างโอกาส ความยั่งยืน และความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage)
โดยมี 3 เป้าหมายภายใน 2570 คือ 1) เพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30% และ 2) ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ใน IMD-WDCR อยู่ใน 30 อันดับแรก และ 3) มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและการเข้าใจดิจิทัลของประเทศไทยอยู่ที่ 80 คะแนน
สถาบัน IMD – International Institute for Management Development ได้เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของโลก หรือ WDCR ประจำปี 2566 ว่า ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ อันดับ 35 จากเดิมปี 2665 อยู่อันดับที่ 40 และเมื่อวิเคราะห์รายตัวชี้วัดตามปัจจัยหลัก 3 ด้าน พบว่า ปีที่ผ่านมา ที่มีอันดับดีในหลายด้าน โดยด้านเทคโนโลยี (Technology) อยู่ในอันดับที่ 15 (เดิมอันดับที่ 20) ด้านความรู้ (Knowledge) อยู่ที่อันดับ 41 (เดิมอันดับที่ 45) และด้านความพร้อมในอนาคต (Future Readiness) อยู่ที่อันดับ 42 (เดิมอันดับที่ 49)
โดยผลการศึกษาที่สำคัญ พบว่า ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับ 10 ตัวชี้วัด จาก 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย
- 1) ด้านความรู้ (Knowledge) ได้แก่ ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital/Technological Skills), การจ้างงานทางวิทยาศาสตร์และความเชี่ยวชาญทางเทคนิค (Scientific and Technical Employment)
- 2) ด้านเทคโนโลยี (Technology) ได้แก่ การเริ่มต้นประกอบธุรกิจ (Starting a Business), การพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Development & Application of Tech)
- 3) ด้านความพร้อมในอนาคต (Future Readiness) ได้แก่ การค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ต (Internet Retailing), รัฐบาลดิจิทัล (e-Government), ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership), ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security), ความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของรัฐบาล (Government Cyber Security Capacity), การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวตามกฎหมาย (Privacy Protection by Law Content)
ปลัดกระทรวงดีอี กล่าวว่า มี 3 ปัจจัยที่จะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยดิจิทัล คือ 1. E-government สร้างระบบนิเวศเพื่อบริการประชาชนและขับการงานด้วยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ผ่ามามีการใช้ระบบ Paper less ในการบริหารจัดการภายในหน่วยงานขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการลดใช้กระดาษนั้น ในระบบงานให้เหลือน้อยที่สุด และใช้การจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud ซึ่งมีความปลอดภัย สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้สะดวก การให้บริการประชาชน โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนการให้บริการประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว มั่นคงปลอดภัย บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านหน่วยงานภาครัฐ ด้วยระบบยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital ID)
2.Digital Manpower ที่ผ่านมามีการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพไทยตลอดช่วงชีวิตเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีด้วยระบบนิเวศสำหรับการพัฒนาทักษะและลักษณะ Single platfrom ซึ่งจากปัจจุบันสภาพของสังคมแรงงานด้านดิจิทัล และผู้เชี่ยวชาญยังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในขณะที่ตลาดด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลคนและการรับส่งข้อมูลสำหรับบุคคลที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการยกระดับและพัฒนาศักยภาพกำลังคนถึงการพัฒนาช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลจึงจำเป็นต้องมีการสร้างกำลังพลดิจิตอลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
3.Digital Trust กำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการถูกหลอกลวงออนไลน์ ด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และปราบปราม การสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัล ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ให้บริการรับเรื่องร้องเรียนภัยออนไลน์ตลอด 24 ชม. พร้อมกับการใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบข้อมูล ติดตามเส้นทางการเงิน รวมทั้งจัดตั้ง GCC 1111 ให้บริการสอบถามข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนภาครัฐ รวมถึงรับแจ้งเบาะแสข่าวปลอม อาชญากรรมออนไลน์