‘ไมโครซอฟท์ - กูเกิล’ มอง ‘Digital Trust’ วาระท้าทาย ชีวิตบนโลกดิจิทัล
บิ๊กเทค “ไมโครซอฟท์ - กูเกิล” มองเทรนด์เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ชี้ “ความเชื่อมั่น - ปลอดภัย” รากฐานสำคัญการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล แนะองค์กรเร่งวางแนวทางการกำกับดูแล-ใช้งานข้อมูล พร้อมปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้อง รับมือความท้าทายยุค AI ขับเคลื่อนทุกมุมมองในโลกธุรกิจ
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงาน “60 Years OF EXCELLENCE” ฉลองครบรอบ 60 ปี เชิญผู้นำจากองค์กรชั้นนำระดับโลกและระดับประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนจากหลากหลายอุตสาหกรรม ร่วมแชร์วิสัยทัศน์ มุมมอง แนวโน้มธุรกิจ และดิจิทัลเทรนด์ที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติของการขับเคลื่อนอนาคตองค์กร...
เวทีเสวนา “Telling Right from Not Right : A Matter of Trust in the Digital World”
เชาวลิต รัตนกรไกรศรี รองกรรมการผู้จัดการสายงานโซลูชันองค์กร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดมุมมองว่า AI จะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจในทุกมุมมอง โดยความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่จะเข้ามายกระดับผู้คน ธุรกิจ และสร้างโอกาสใหม่ๆ
อีกทางหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำอย่างไรหากไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้งานประสิทธิภาพและประสิทธิผลย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้
ดังนั้นไมโครซอฟท์วางเรื่องซิเคียวริตี้เป็นวาระสำคัญอันดับแรกๆ และเป็นเรื่องที่ไม่อาจยินยอมได้ จริงอยู่ว่าเทคโนโลยีอย่าง GenAi และ LLM มีในตลาดจำนวนมาก ทว่าหากมองในฐานะผู้ใช้งานต้องมั่นใจว่าข้อมูลมีความปลอดภัยไม่รั่วไหลออกไปภายนอก
ผลสำรวจระบุว่า กลุ่มบุคลากรระดับเชี่ยวชาญกว่า 92% ใช้ AIสำหรับการทำงานแล้ว แต่ทั้งนี้มีองค์กรถึง 73% ที่มีความกังวลเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการใช้งานที่เป็นอันตรายและการรั่วไหลของข้อมูล และ 43% จะไม่อนุญาตให้ใช้งานเครื่องมือAI
อย่างไรก็ดี การสร้างความเชื่อมั่น บทบาทการกำกับดูแลของภาครัฐเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญ ทว่าอย่าเพิ่งรีบออกกฎหมาย เนื่องจากเทคโนโลยีก้าวไปเร็วมาก ต้องมีการศึกษาเทคโนโลยีโดยละเอียดเสียก่อน มิเช่นนั้นจะเป็นการตัดโอกาสการเติบโตของประเทศ อีกทางหนึ่งต้องมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มีความเข้าใจในบริบทความสำคัญและกลายเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติ สุดท้ายต้องมีการประเมินความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น
เช่น การออกแบบหลักการด้าน “Responsible AI” ของไมโครซอฟท์จะคำนึงถึงประเด็นเรื่องความเท่าเทียม ความเชื่อมั่นปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว รวมถึงความครอบคลุม โดยภาพรวมต้องไม่ขัดแย้งต่อกฎหมายและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
การปรับใช้ AIในองค์กรสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี เพราะAIกลายเป็นมาตรฐานและอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ที่สำคัญคือต้องมีการวางหลักการและการขับเคลื่อนโดยผู้นำองค์กร ภายใต้แนวคิดที่ต้องการเติบโต สามารถล้มเหลวได้แต่ต้องลุกขึ้นใหม่ได้เร็ว ที่ขาดไม่ได้คือการยกระดับทักษะบุคลากรที่สอดคล้องกับการพัฒนา
‘ความปลอดภัย’ รากฐานการพัฒนา
อรรณพ ศิริติกุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กูเกิล คลาวด์ กล่าวว่า เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือทำให้ทุกอย่างพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเหรียญสองด้าน นอกจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นมหาศาลยังเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเข้ามาฉกฉวยหลอกลวง เกิดความเสี่ยงต่อทั้งข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรมการใช้ชีวิต
กูเกิลในฐานะผู้ให้บริการจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาการทำงานอยู่ภายใต้นโยบายความปลอดภัย ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ วางหลักการการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงนโยบายด้านการใช้ข้อมูล โดยจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
นอกจากนี้ ต้องก้าวนำไปข้างหน้าก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น สามารถมองเห็นสัญญาณอันตรายซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ร้ายแรงมากขึ้นได้ ขณะเดียวกันเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานภายในองค์กร พร้อมก้าวตามให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
อรรณพมองว่า ไทยเป็นประเทศไม่ได้ปิดกั้นแต่ก็ไม่ได้เปิดเสียทีเดียว ต้องมีการทำความเข้ากันใจก่อนจึงจะมีการปฏิบัติตาม ดังนั้นงานสำคัญต้องมีการอบรมให้ความรู้ วางแนวทางเรื่องการใช้AIและการใช้AIอย่างมีความรับผิดชอบที่ชัดเจน รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความปลอดภัย รัฐเองก็มีส่วนสำคัญที่ต้องร่วมขับเคลื่อน โดยหลักการสำคัญต้องมีทั้งความปลอดภัย ไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัว และสร้างประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
ความเชื่อมั่นในโลกดิจิทัลไม่ได้ต่างอะไรกับการสร้างความเชื่อมั่นที่เคยมีมา เป็นเรื่องของความสม่ำเสมอและกาลเวลาที่ต้องคิดให้ดีก่อนลงมือทำ มากกว่านั้นเป็นเรื่องที่เปราะบางไม่อาจปล่อยผ่าน หากเกิดเหตุผิดพลาดต้องไม่แก้ตัวแต่ขอโทษและปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นวัฒนธรรมประจำองค์กร