“จีเอเบิล” ผนึกพันธมิตรโลก ปั้น ‘บิซิเนส แอปพลิเคชั่น’รุกองค์กรยุคใหม่

“จีเอเบิล” ผนึกพันธมิตรโลก ปั้น ‘บิซิเนส แอปพลิเคชั่น’รุกองค์กรยุคใหม่

‘จีเอเบิล’ เทคคอมพานี สัญชาติไทย มองตลาดเทคโนโลยีในไทยยังมีดีมานด์สูง หลายองค์กรขยับเร่งทรานส์ฟอร์มรับโลกยุคใหม่ เปิดโอกาส จีเอเบิล เดินหน้าลุยผนึกพาร์ทเนอร์ระดับโลกดัน “บิสิเนส แอปพลิเคชั่น” ตอบโจทย์ลูกค้า ย้ำ ‘เอไอ’ ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญ

ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” เล่าถึงทิศทางธุรกิจจากนี้ ยังเน้นเรื่อง เอไอ , บิซิเนส แอปพลิเคชั่น รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับบริษัทระดับโลก การซื้อกิจการบริษัทที่มีบริการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

‘เวิร์กเดย์’ หนุนเป้าลุย ‘บิซิเนส แอป’

ก่อนหน้านี้ จีเอเบิล ประกาศความร่วมมือกับ เวิร์คเดย์ (Workday) ผู้นำโซลูชั่นบริหารทรัพยากรบุคคล (เอชอาร์) ระดับโลก เพื่อดึงโซลูชั่นด้านเอชอาร์เจาะกลุ่มลูกค้าในไทย จากทิศทางการเติบโตของตลาด HCM solutions (Human Capital Management) ระบบบริหารจัดการคน ที่ช่วยให้การทำงานของเอชอาร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีอัตราการเติบโตที่สูง จากข้อมูล การ์ทเนอร์ ระบุว่า การเติบโตของตลาด HCM solutions ในไทยช่วง ปี 2023-2027 มีแนวโน้มเติบโตถึง 18%

“ครึ่งปีที่ผ่านมา เราสามารถปิดดีลกับเวิร์คเดย์ได้ ซึ่งตอนนี้กำลังออกดอกออกผล พร้อมที่จะไปอิมพลิเมนท์ให้กับลูกค้า ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราต้องออกไปหาตลาด ซึ่งกลุ่มหลัก คือ เอ็นเตอร์ไพร์ส แต่เรากำลังคุยกับทางเวิร์คเดย์ ว่าจะหันมาจับกลุ่มบริษัทขนาดเล็กลงมาด้วย”

“จีเอเบิล” ผนึกพันธมิตรโลก ปั้น ‘บิซิเนส แอปพลิเคชั่น’รุกองค์กรยุคใหม่

สร้างไม่ทันก็ต้อง “ซื้อเข้ามา”

ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า พาร์ทเนอร์ระดับโลกของจีเอเบิลขณะนี้ นอกจาก “เวิร์คเดย์” บริษัทยังมองไปถึงบริษัทระดับโลกอย่าง “เซลล์ฟอร์ซ” ผู้นำระบบซีอาร์เอ็ม แพลตฟอร์มจัดการลูกค้าสัมพันธ์ รวมถึงผู้นำระบบอีอาร์พีที่ดีที่สุดอย่าง เอสเอพี (SAP) ด้วย

“ถ้าเราสร้างไม่ทัน ก็ต้องพยายามเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทเหล่านี้ ดึงโซลูชั่นที่ดีที่สุดมาให้บริการลูกค้าให้ได้”

ดร.ชัยยุทธ บอกว่า ธุรกิจไอทีในไทยยังมีดีมานด์ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น ท่ามกลางการแข่งกันเรื่อง ดาต้า การต้องปกป้องข้อมูลสกัดการรั่วไหล โดยเฉพาะในกลุ่มแบงก์ ยังมีการลงทุนในระบบไอทีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มแบงก์เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของจีเอเบิลและเพิ่งปิดดีลกับแบงก์ใหญ่ไปเมื่อไม่นาน ลงทุนด้านเมนเฟรม รวมถึงระบบที่รองรับเอไอ เช่นเดียวกับ กลุ่มธุรกิจประกัน ยังมีดีมานด์ลงทุนไอทีต่อเนื่องเช่นกัน

“ระบบไอที ที่ลูกค้ายังต้องการ คือ การเอาดาต้าขึ้นคลาวด์ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ดาต้าอนาไลติกส์ รวมถึงการเอาดาต้ามา สร้างธุรกิจใหม่ๆ รวมไปถึงการใช้เอไอ เทคโนโลยีเหล่านี้ ยังมีดีมานด์จากกลุ่มลูกค้าของเรา”

ปี 2568 สุดท้าทาย เอไอ ยังแรง

ดร.ชัยยุทธ มองว่า ปีหน้า 2568 น่าจะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับ จีเอเบิล เป็นปีที่จะเห็นอะไรชัดเจนขึ้น จีเอเบิลเป็นบริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปีกว่า มีเม็ดเงินจากการระดมทุน มั่นใจว่าภายในปีนี้ จีเอเบิลจะสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้

“อย่างในเรื่องของเวิร์คเดย์ ตอนนี้ทีมมีความพร้อม ปีหน้าเป็นปีที่ต้องพยายามดึงบิสิเนสเข้ามา ส่วนเงินที่ระดมทุนมา ปีนี้หากเราลงทุนได้สำเร็จ แล้วนำไปต่อยอดในผลิตภัณฑ์ที่เราไม่มี โดยเฉพาะในเรื่องของ บิสิเนส แอปพลิเคชั่น หากเรานำเงินมาลงทุน และนำสิ่งที่เขาสร้างมาอยู่แล้ว (เทคโนโลยีของพาร์ทเนอร์) เข้ามา อย่างน้อยมันมีฐานอยู่แล้ว และสามารถรวมกันได้เลย เชื่อว่า ธุรกิจโต และมาร์จิ้นก็ดี เป็นจุดเปลี่ยนทำให้เรากระโดดขึ้นมาได้ ขณะที่ธุรกิจที่ทำอยู่ก็มีความหวังจากงบประมาณภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างหมุนมากขึ้น”

เม็ดเงินระดมทุนตอนนี้ของจีเอเบิลอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านบาท ขณะที่ก่อนหน้านี้ จีเอเบิล ยังเข้าไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัปเล็กๆ ของคนไทยด้วยเพื่อต่อยอดบริการที่มีอยู่

สิ่งหนึ่งที่ ซีอีโอของจีเอเบิล เน้นย้ำ คือ แผนธุรกิจปีหน้าจะเน้นเรื่อง บิสิเนส แอปพลิเคชั่น ให้มาก เพราะดีมานด์ลูกค้าสูง แต่ซัพพลายไม่พอขณะเดียวกัน จะเน้นเรื่อง AI readiness หรือการทำให้องค์กรพร้อมในการใช้เอไอ และนำเอไอเข้ามาประยุกต์ใช้งาน ซึ่งจีเอเบิล จะเข้าไปแนะนำลูกค้าตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ต้องใช้งานจริง

“สิ่งหนึ่งที่เห็น ตอนนี้หลายองค์กรอยากนำเอไอไปใช้ แต่หลายองค์กรยังไม่พร้อม โดยเฉพาะเรื่องดาต้าภายในองค์กรที่ยังไม่ได้ถูกจัดระบบ ดังนั้นมองว่า เอไอ ในไทยที่พร้อมจริงๆ อาจต้องรอ แต่ที่ใช้ได้ก่อน คือ นำเอไอเข้ามาทำให้ระบบหลังบ้านมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิม เช่น นำมาวิเคราะห์งบการเงินบริษัท แต่วันนี้ปัญหาองค์กรไทย คือ ดาต้ายังอยู่แบบกระจัดกระจาย ทำให้ยากในการจะนำเอไอไปใช้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ปีหน้า เอไอ ก็ยังมีการทิศทางการเติบโตได้อยู่”

อย่างไรก็ตาม ใน 3-5 ปี จีเอเบิล อยากมีการเติบโตแบบ stable (มั่นคง) เรื่องของไอที อินฟราเบสท์ ยังเป็นคอร์บิสิเนสอยู่ คาดว่าจะเติบโตในระดับจีดีพีประเทศ หรือ +-ไม่เกิน 5% ซึ่งจีเอเบิล ยังคงโฟกัสตลาดในประเทศ ไม่ได้ขยายไปต่างประเทศ ดังนั้นความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ จะน้อย

อุตฯไอทีไทยยังถูกประเมินต่ำ

ดร.ชัยยุทธ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า อุตสาหกรรมไอทีของไทยที่ผ่านมาโดน under value ไปมาก ซึ่งโอกาสของบริษัทเทคคนไทยควรสูงกว่านี้ แต่ส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นมูลค่าที่ชัดเจน เพราะประเทศไทย ไม่ได้เป็นคนที่คิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เหมือน กูเกิล อเมซอน หรือ ไมโครซอฟท์ ซึ่งเห็นชัดเจนว่า คือ innovater

“ไทยเราแม้จะมี innovation บางอย่าง หากการยอมรับของลูกค้าไทยยังช้า กลายเป็น culture ของเราไปแล้วว่า อะไรที่ผลิตในบ้าน มักจะไม่ได้รับการยอมรับ กลับกัน ผมมองว่า ต่างชาติกลับเชื่อมั่นในบริษัทคนไทยมากกว่า ทำให้ภาพการเป็น innovater ของเราไม่ค่อยชัด ก็จะมองว่าเราเป็นแค่คนให้บริการอย่างเดียว”