MFEC เผยแผนธุรกิจปี 67 มุ่งโต 11.4% รับตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้บูม

MFEC เผยแผนธุรกิจปี 67 มุ่งโต 11.4% รับตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้บูม

ส่องกลยุทธ์ MFEC รับมือตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ไทยที่กำลังเติบโต ตั้งเป้ารายได้พุ่ง 6,734 ล้านบาท โต 11.4% พร้อมเปิดแนวทางรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนขึ้นในยุค AI และมุมมองการรักษาบุคลากร

บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC ผู้นำด้านไอทีโซลูชันครบวงจร เปิดเผยแผนธุรกิจปี 2567 โดยตั้งเป้าหมายรายได้กลุ่มธุรกิจที่ 6,734 ล้านบาท เติบโต 11.4% จากปีก่อน โดยคาดว่าธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้จะมีสัดส่วนการเติบโตสูงถึง 25%

แนวโน้มการเติบโตของตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้ไทย

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร MFEC กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในประเทศไทยกลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2567 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 14.10%

ปัจจัยหลักที่ผลักดันการเติบโตนี้มาจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวและหาโซลูชันที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์

ข้อมูลการวิจัยของ Cybersecurity Ventures องค์กรด้านการวิจัยและเก็บรวบรวมสถิติด้านเศรษฐกิจและไซเบอร์ซีเคียวริตี้โลก คาดการณ์ว่าความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางไซเบอร์อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกถึง 9.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีในปี 2567 และอาจสูงขึ้นถึง 10.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2568 

ในขณะที่ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS เผยว่าการประเมินมูลค่าการลงทุนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของไทยจากปี 2565 คาดว่าจะเติบโตทบต้นต่อปี (CAGR) 13% ไปอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2568 

“ในปัจจุบันทิศทางแนวโน้มการลงทุนจะมาจาก Integration Solution ในลักษณะการเป็น Single Partner, Enterprise Agreement, และธุรกิจ Security Managed Services โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดของโลกเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งรวมถึงตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีความสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ การหดตัวของการลงทุนในประเทศไทยทำให้ลูกค้าของ MFEC เองก็ต้องปรับตัวตาม 

แต่ธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของ MFEC ยังคงเติบโตได้ดี และเป็นไปตามเป้าที่ได้วางไว้ เราใช้กลยุทธ์ Tech with Propose สร้างความมั่นใจและรักษาฐานลูกค้า และนำ เทรนด์เอไอมาต่อยอดเป็นบริการโซลูชันใหม่เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน” 

ผลกระทบ Generative AI ต่อวงการไซเบอร์ซีเคียวริตี้

ด้าน นายดำรงศักดิ์ รีตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของ MFEC กล่าวว่า Generative AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ทั้งในแง่ของการวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจจับความผิดปกติ และการปรับปรุงระบบป้องกัน อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้เป็นดาบสองคมที่อาจถูกใช้โดยอาชญากรไซเบอร์เช่นกัน

“Generative AI เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและชาญฉลาด และมีบทบาทสำคัญในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ถือเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพทั้งในด้านการโจมตีและการป้องกันภัยไซเบอร์ การเข้าใจบทบาทและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต เพราะหากถูกนำมาใช้โจมตีทางไซเบอร์อาจยากจะรับมือ 

แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นำความสามารถของ Generative AI มาใช้เพิ่มความสามารถในการดำเนินงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเช่นกัน เอไอช่วยให้องค์กรวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ตรวจจับและจัดการกับภัยคุกคาม รวมทั้งแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ 

องค์กรจึงต้องวางแผนกลยุทธ์ยกระดับแรงงานดิจิทัล (Digital workforce) และลงทุนในทักษะและความรู้ของทีมรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มเสถียรภาพความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพ และก้าวนำหน้าอาชญากรไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น”

ดังนั้น MFEC จึงเน้นกลยุทธ์การผสานนวัตกรรมเอไอเข้ากับการพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยปัจจุบันบริษัทมี Cybersecurity Engineer กว่า 120 คน และมีแผนขยายฐานลูกค้าไปยังองค์กรขนาดกลาง พร้อมทั้งเพิ่มบริการแบบ Managed Service ครบวงจร

นายดำรงศักดิ์ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างจริงจัง โดยกล่าวว่า ผู้บริหารมักพูดว่าซีเคียวริตี้สำคัญที่สุด แต่ในทางปฏิบัติกลับถูกผลักไปอยู่ลำดับหลัง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงทั้งด้านธุรกิจ ชื่อเสียง และกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้

วัฒนธรรมองค์กรของ MFEC ที่ช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากร

สำหรับด้านวัฒนธรรมองค์กร MFEC เน้นการสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นกันเอง เปรียบเสมือนการเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงในตลาดแรงงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้

“ตอนเริ่มบริษัทใหม่ๆ มีพนักงานไม่ถึง 10 คน ตอนนี้ขยายทีมกว่า 140 คน ทุกๆ อย่างยังคงเหมือนเดิม เคยมีเด็กจบใหม่จากคณะวิศวกรรมศาสตร์มาสัมภาษณ์สมัครงาน เขาถามว่าที่นี่อยู่กันแบบไหน ผมตอบไปว่า ถ้าเคยเรียนวิศวะมาแบบไหน ที่นี่ก็เหมือนกับการเรียนในคณะวิศวะแบบนั้น มีอธิการบดี คณบดี หัวหน้าภาค พี่ๆ TA ทุกคนอยู่กันแบบนี้ และคอยช่วยเหลือกัน

น้องๆ ในทีมออกไปทำงานข้างนอก เจอลูกค้าหลายแบบ กลับมาออฟฟิศก็อยากให้เขามีความสุข มีเสียงพูดคุยกันจ้อแจ้ ตะโกนข้ามโต๊ะกันไปมา ก็ปล่อยให้ได้คุยกันไป เราไม่ได้ไปดุเขาว่าทำไมถึงไม่ทำงานกัน แต่เราเข้าใจคนที่ออกไปเจอลูกค้าแล้วเจอความกดดัน เพราะงั้นเวลาเขากลับมาออฟฟิศเราอยากเห็นรอยยิ้มและความสุขของเขา

หากถามว่าเกิดการแย่ง Talent กันระหว่างองค์กรไหม เพราะการแข่งกันในตลาดสูงและต้องการคนเก่งๆ ก็ขอตอบว่าไม่มีใครสามารถแย่งไปได้ เราโชคดีที่วัฒนธรรมองค์กรเราเป็นแบบนี้” นายดำรงศักดิ์ กล่าวทิ้งทาย

ท้ายที่สุดแล้ว ด้วยแนวโน้มการเติบโตของตลาดและความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น MFEC จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นพันธมิตรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่ครบวงจรสำหรับองค์กรในประเทศไทย พร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่ซับซ้อนขึ้นในยุคเอไอ